ดร.สุทธิ สุนทรานุรักษ์
นักวิชาการตรวจเงินแผ่นดินชำนาญการพิเศษ
สำนักวิจัยและพัฒนาการตรวจเงินแผ่นดิน สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน
ในปี ค.ศ.2016 นับว่ามีความสำคัญสำหรับชาวฟิลิปปินส์อย่างน้อย 2 เรื่อง นะครับ เรื่องแรก คือ ปีนี้ ครบรอบ 70 ปี ที่ฟิลิปปินส์ได้รับเอกราชจากสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 1946 หลังสงครามโลกครั้งที่สองสงบลง เอกราชที่ได้มานี้นับว่า “ล้ำค่า” มาก เนื่องจากชาวปินอยต่างต้องเสียเลือดเนื้อนานหลายร้อยปีเพื่อเรียกร้องอิสรภาพตั้งแต่เป็นอาณานิคมสเปนและสหรัฐอเมริกา
เเช่นเดียวกันปีนี้ ครบรอบ 30 ปี การเคลื่อนไหวทางการเมืองของประชาชนครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ฟิลิปปินส์ เพื่อขับไล่นายเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส (Ferdinand Marcos) เผด็จการทรราชย์ที่ปกครองประเทศมายาวนานกว่า 20 ปี เหตุการณ์ประวัติศาสตร์ครั้งนี้ ชาวปินอยเรียกว่า Epiphania de los Santos Avenue (EDSA) หรือ 1986 People Revolution
ผลพวงของการเคลื่อนไหวต่อสู้ครั้งนั้น ทำให้ประชาธิปไตยฟิลิปปินส์ เบ่งบาน เติบโตจนมั่นคงมาจนถึงวันนี้และเป็นการร่วมกันปฏิรูปประเทศอย่างแท้จริงด้วยพลังของประชาชน
EDSA กับ นางคอรี่ “คอราซอน อาควิโน” การปฏิวัติโดยพลังของประชาชนเพื่อโค่นล้มเผด็จการมาร์กอสในปี 1986
(ภาพจาก http://www.greatvalueplus.ph/blog/wp-content/uploads/2015/03/cory.jpg)
สำหรับเรื่องที่สอง คือ การเลือกตั้งครั้งใหญ่ (General Election) ที่มีขึ้นในวันที่ 9 พฤษภาคม ที่ผ่านมา หลังจากที่รัฐบาลของนายเบนิกโน นอยนอย อาควิโน เดอะเทิร์ด (Benigno Aquino III) หมดวาระลง รัฐธรรมนูญฟิลิปปินส์กำหนดให้จัดเลือกตั้งครั้งใหญ่โดยประชาชนมีสิทธิเลือกประธานาธิบดีเพื่อเข้าดำรงตำแหน่งจนถึงปี 2022
เมื่อตอนที่แล้ว ผู้เขียนแนะนำรายชื่อแคนดิเดทผู้ท้าชิงประธานาธิบดีในครั้งนี้ โดยตัวเต็งที่น่าจับตามองอยู่ 3 คน คือ นายเจโจมาร์ บิเนย์ (Jejomar Binay) นักการเมืองรุ่นเก๋าจากพรรค United Nationalist Alliance คนที่สอง คือ นางเกรซ โพล (Grace Poe) อดีตวุฒิสมาชิก ผู้สมัครอิสระ ที่มีฐานเสียงกลุ่มใหญ่จากแฟนดาราภาพยนตร์ของพ่อบุญธรรม นายเฟอร์ดินานด์ โพล จูเนียร์ หรือ FPJ ส่วนตัวเต็งคนสุดท้าย คือ นายมานูเอล อราเนตต้า โรฮาส เดอะ เซคัล หรือ มาร์ โรฮาส (Mar Roxas) หลานปู่ของนายมานูเอล โรฮาส (Manuel Roxas) อดีตประธานาธิบดีคนที่ 5 (ดำรงตำแหน่งระหว่างปี 1946-1948)
นายมาร์ โรฮาส (Mar Roxas) อีกหนึ่งแคนดิเดทชิงประธานาธิบดีจากพรรค Liberty
(ภาพจาก http://media.philstar.com/)
มาร์ โรฮาส เป็นตัวแทนจาก Liberty Party แกนนำพรรครัฐบาลในปัจจุบันที่ นายเบนิกโน อาควิโน นั่งเป็นประธานพรรคอยู่ มาร์ นับเป็นตัวเต็งคนสำคัญที่เพียบพร้อมทั้งชาติตระกูล การศึกษา (เขาจบการศึกษาจากสหรัฐอเมริกา) และวัยวุฒิที่เหมาะสม อย่างไรก็ดี ด้วยภาพลักษณ์ที่กระเดียดไปว่าเป็นชนชั้นนำรุ่นใหม่ (Elite) แน่นอนว่า การเข้าถึงประชากรกลุ่มใหญ่ของฟิลิปปินส์ซึ่งยังยากจนอยู่นั้น อาจเป็นอุปสรรคสำคัญในการแข่งขันชิงตำแหน่งประธานาธิบดีครั้งนี้
ลักษณะพิเศษของการเมืองฟิลิปปินส์อีกประการ คือ การเล่นการเมืองแบบสืบทอดทายาททางการเมืองกลายเป็น “ตระกูลการเมือง” [1]
การเลือกตั้งใหญ่รอบนี้ ตระกูลการเมืองสำคัญ ๆ ต่างส่งทายาทตนเองเข้าชิงชัยในตำแหน่งต่าง ๆ ตั้งแต่ตำแหน่งประธานาธิบดีที่ตระกูลโรฮาส ของอดีตประธานาธิบดีมานูเอล โรฮาส ส่งนายมาร์ โรฮาส ลงชิงชัย
ขณะที่ตำแหน่งรองประธานาธิบดี ตระกูลมาร์คอส ส่ง นายบองบอง มาร์กอส (Bongbong Marcos) บุตรชายคนรองของอดีตประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส เข้าแข่งขันในนามผู้สมัครอิสระ (Independent) ทั้งนี้ตระกูลมาร์คอสยังมีอิทธิพลและบทบาททางการเมืองในจังหวัด Ilocos Norte จังหวัดทางภาคเหนือของเกาะลูซอน
[1]ท่านที่สนใจเรื่องตระกูลการเมืองในฟิลิปปินส์ สามารถอ่านเพิ่มเติมได้จากบทความของผู้เขียนเรื่อง ตระกูลการเมืองกับการลดต้นทุนนักการเมือง http://thaipublica.org/2013/12/political-family-2/
บองบอง มาร์กอส บุตรชายอดีตประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส
บอง บอง ลงสมัครชิงชัยตำแหน่งรองประธานาธิบดีรอบนี้ แม้ว่าพ่อของเขาจะพ้นจากอำนาจไปนานแล้ว แต่อิทธิพลของตระกูลมาร์กอสยังคงอยู่ (ภาพจาก วิกิพีเดีย)
สำหรับ ซีรีส์ชุดฟิลิปปินส์ ตอนที่ 5 นี้ ผู้เขียนจะนำเสนอประเด็นประชาธิปไตยและการเมืองฟิลิปปินส์หลังจากที่พวกเขาได้รับเอกราชโดยสมบูรณ์จากสหรัฐอเมริกา อย่างไรก็ดี ประชาธิปไตยฟิลิปปินส์ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ ชาวปินอยยังต้องต่อสู้โดยตลอดเพื่อแลกมาซึ่งสิทธิ เสรีภาพและความเท่าเทียมในการอยู่ร่วมกัน
ประวัติศาสตร์ประเทศฟิลิปปินส์ถูกเขียนขึ้นจากการต่อสู้ของพลังประชาชนตั้งแต่สมัยเป็นอาณานิคมสเปนและสหรัฐอเมริกา การได้รับเอกราชในปี 1946 นับเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างประชาธิปไตยฟิลิปปินส์ซึ่งสหรัฐอเมริกาพยายามวางรากฐานให้ระดับหนึ่งแล้ว
พิธีประกาศเอกราชของฟิลิปปินส์เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 1946 จุดเริ่มต้นของฟิลิปปินส์ยุคใหม่
(ภาพจาก http://malacanang.gov.ph/)
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ฟิลิปปินส์ ถูกคาดหมายว่าจะเป็นประเทศพัฒนาก่อนใครเพื่อนในเอเชีย ด้วยเหตุผลที่สหรัฐอเมริกาเข้ามาวางระบบและกลไกการพัฒนาประเทศไว้เป็นอย่างดี เช่นเดียวกับความสามารถของชาวปินอยที่สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้คล่องแคล่ว ถึงขนาดผสมกับภาษาตากาล็อกแล้วเรียกอังกฤษสำเนียงฟิลิปปินส์ว่า “Taglish”
นายมานูเอล เอ โรฮาส เป็นประธานาธิบดีคนแรกภายหลังจากที่ฟิลิปปินส์ได้รับเอกราช นายโรฮาส บริหารประเทศอยู่ 2 ปี โรฮาส เป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งพรรค Liberty party (พรรคที่หลานชายเขา Mar กำลังจะลงสมัครชิงชัยประธานาธิบดีรอบนี้) ช่วงที่โรฮาส ปกครองประเทศเป็นช่วงเริ่มต้นสร้างชาติภายใต้ยุคสงครามเย็น ทำให้เขาต้องกวาดล้างต่อสู้กับกลุ่ม Hukbalahap ซึ่งเป็นกลุ่มที่เคลื่อนไหวช่วยกันเรียกร้องเอกราชจากสหรัฐ แต่กลุ่ม Huk นิยมแนวทางสังคมนิยมคอมมิสต์ ทำให้รัฐบาลโรฮาสต้องกำจัดเนื่องจากเป็นภัยต่อความมั่นคง โรฮาส ถึงอนิจกรรมด้วยโรคหัวใจวายในปี 1948 ทำให้ นายเอลปิดิโอ คิริโน (Elpidio Quirino) รองประธานาธิบดีก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งแทน
นายมานูเอล โรฮาส ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์คนที่ 5 เข้ารับการสาบานตน เขานับเป็นผู้นำคนแรกในยุคที่ฟิลิปปินส์ได้รับเอกราช
(ภาพจาก http://malacanang.gov.ph/)
ในยุคของรัฐบาลนายคิริโน (1948-1953) เขาพยายามฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากสงครามโลก เช่นเดียวกับการต่อสู้กับลัทธิคอมมิวนิสต์อย่างแข็งขัน โดยได้รับความช่วยเหลือจากสหรัฐอเมริกา ในการเลือกตั้งปี 1953 คิริโนลงชิงชัยประธานาธิบดีอีกครั้ง แต่รอบนี้เขาพ่ายแพ้ต่อ นายรามอน แมกไซไซ (Ramon Magsaysay)
ภาพวาดของอดีตประธานาธิบดีรามอน แมกไซไซ
แมกไซไซ นับเป็นผู้นำที่ชาวปินอยรักมากที่สุดคนหนึ่ง
(ภาพจาก http://malacanang.gov.ph/)
นายรามอน แมกไซไซ นับเป็นตำนานผู้นำที่ชาวปินอยจดจำและรักใคร่ เขาเป็นผู้ริเริ่มการรวมกลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จนเป็นที่มาของอาเซียนในทุกวันนี้ ประธานาธิบดีแมกไซไซเป็นผู้นำที่มีเสน่ห์ บริหารประเทศโดยรู้จักผ่อนหนักผ่อนเบา ฉลาดและมีสหรัฐอเมริกาเป็นผู้สนับสนุน
อย่างไรก็ดี แมกไซไซ ต้องจากไปก่อนวัยอันควรด้วยอุบัติเหตุทางเครื่องบินในระหว่างเดินทางจากมนิลาไปเกาะเซบู การสูญเสียแมกไซไซเมื่อปี 1957 ดำรงตำแหน่งอยู่ได้ 4 ปี รองประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ คือ นายคาร์ลอส พี การ์เซีย (Carlos P Garcia) ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำคนใหม่แทน
นายการ์เซีย ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีอีกครั้งในปีเดียวกัน ในสมัยของนายการ์เซีย เปิดโอกาสให้สหรัฐอเมริกาเช่าฐานทัพในฟิลิปปินส์ ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องความมั่นคง นอกจากนี้ยังเป็นการคุ้มครองฟิลิปปินส์ไปในตัว รัฐบาลของการ์เซียเริ่มส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ พ่อค้านักธุรกิจจีนเริ่มเข้ามามีบทบาทในอุตสาหกรรมต่าง ๆ
นายดิโอสดาโด มาคาปากัล อดีตประธานาธิบดีที่ในเวลาต่อมาบุตรสาวของเขา
นางกลอเรีย มาคาปากัล อาโร่โย่ ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเช่นเดียวกับเขา
(ภาพจาก http://malacanang.gov.ph/)
หลังหมดวาะ การ์เซีย ลงเลือกตั้งประธานาธิบดีอีกครั้ง แต่ครั้งนี้พ่ายแพ้ต่อ นายดิโอสดาโด มาคาปากัล (Diosdado Macapagal) ในยุคของนายมาคาปากัล มีการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญเขาพยายามสลัดให้หลุดจากอิทธิพลของสหรัฐอเมริกา ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ การเปลี่ยนวันชาติฟิลิปปินส์จากวันที่ 4 กรกฎาคม ที่สหรัฐอเมริกามอบเอกราชให้เป็นวันที่ 12 มิถุนายน ซึ่งเกี่ยวโยงกับขบวนการกู้ชาติของชาวปินอยมากกว่า
นายมาคาปากัลเป็นประธานาธิบดีได้ครบวาระ 4 ปี (1961-1965) หลังจากนั้น เขาลงสมัครรับเลือกตั้ง แต่ก็ต้องพ่ายแพ้ต่อวุฒิสมาชิกหนุ่ม ไฟแรงนามว่า เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส (Ferdinand Marcos
เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส (1965-1986)
ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ ผู้ถูกจดจำในฐานะเผด็จการทรราชย์ (ภาพจาก วิกิพีเดีย)
นายมาร์กอส เป็นนักการเมืองที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงฟิลิปปินส์ทั้งด้านดีและด้านร้าย แต่บั้นปลายท้ายสุด มาร์กอสถูกจดจำว่าเป็นเผด็จการทรราชย์ ที่ติดอันดับการคอร์รัปชั่นระดับโลก และทำให้ฟิลิปปินส์กลายเป็นประเทศที่ถดถอย ล้าหลังลงอย่างน่าใจหาย
ยุคเผด็จการมาร์กอส (Marcos Dictatorship) เริ่มต้นตั้งแต่ปี 1965 และสิ้นสุดลงเมื่อปี 1986
ตลอดระยะเวลา 21 ปีของยุคนี้ นักประวัติศาสตร์การเมืองฟิลิปปินส์ แบ่งช่วงเวลายุคมาร์กอสออกเป็น 3 ช่วง ได้แก่ ช่วงแรก (1965-1972) ซึ่งเป็น 7 ปี ที่มาร์กอสชนะการเลือกตั้ง เข้ามาพัฒนาประเทศได้อย่างน่าประทับใจ ช่วงเวลานี้มีการขยายสาธารณูปโภคออกไปอย่างกว้างขวาง เช่น สร้างถนนไฮเวย์ Maharilka หรือ Pan-Philippines Highway ซึ่งเป็นการก่อสร้างทางหลวงครั้งใหญ่เพื่อเชื่อมเมืองสำคัญ ๆ ในฟิลิปปินส์
มาร์กอสพยายามขอความช่วยเหลือจากสหรัฐอเมริกาเพื่อสนับสนุนและประคับประคองเศรษฐกิจฟิลิปปินส์ให้กลับสู่ภาวะปกติ หลังจากที่เศรษฐกิจฟิลิปปินส์ตกต่ำในยุคของนายมาคาปากัล
มาร์คอส หรือ สื่อฟิลิปปินส์เรียกสั้น ๆ ว่า FM มีเพื่อนสนิทเป็นประธานาธิบดีสหรัฐหลายคน หนึ่งในนั้น คือ อดีตประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน
(ภาพจาก https://static-secure.guim.co.uk)
หลังจากประสบความสำเร็จในการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยแรก มาร์กอสได้รับเลือกอีกครั้งในปี 1969 ช่วงนี้แนวทางการพัฒนาประเทศยังคงไม่แตกต่างจากเดิม มาร์กอสเริ่มโครงการสาธารณูปโภคขนาดใหญ่หลายโครงการ ขยายโอกาสทางการศึกษาด้วยการสร้างโรงเรียนเพิ่มขึ้น ปรับโครงสร้างภาษีเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับรัฐ อย่างไรก็ดี การดำรงตำแหน่งช่วงที่สองนี้เองที่หลายอย่างดูจะไม่เป็นใจให้กับมาร์กอส เศรษฐกิจโลกเริ่มตกต่ำ จากภาวะน้ำมันขาดแคลน เกิด Oil Shock เกิดสงครามเวียดนาม ที่ฟิลิปปินส์ยังคงต้องสนับสนุนกองทัพสหรัฐอเมริกาในสงครามนี้อยู่
ขณะเดียวกัน ศัตรูทางการเมืองของมาร์กอสเกิดขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากไม่เห็นด้วยกับแนวทางการพัฒนาประเทศหลายเรื่อง ขณะเดียวกันปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น ฟุ้งเฟ้อเห่อเหิมของทั้งเขาและภรรยา นางอิเมลด้า มาร์กอส (Imelda Marcos) ได้กลายเป็นประเด็นที่ถูกโจมตี
นางอิเมลด้า (Imelda Marcos) อดีตสุภาพสตรีหมายเลข 1 ภริยามาร์กอส
อิเมลด้า กลายเป็นอีกเป้าหนึ่งที่ถูกโจมตีเนื่องจากใช้ชีวิตด้วยความฟุ้งเฟ้อ ขณะที่เพื่อนร่วมชาติยังยากจนอยู่
(ภาพจาก http://adst.org/)
จุดเสื่อมศรัทธาที่สุดมาถึงในปี 1972 เมื่อมาร์กอส ตั้งใจจะแก้รัฐธรรมนูญใหม่ให้เขาสามารถลงสมัครรับเลือกตั้งได้อีกสมัย แต่เดิม รัฐธรรมนูญฟิลิปปินส์ที่สหรัฐอเมริกาวางไว้นั้น กำหนดให้ประธานาธิบดีคนเดิมสามารถลงสมัครได้เพียงสมัยเดียว (สมัยถัดมา) นั่นหมายถึง ห้ามดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกิน 8 ปี
สาเหตุนี้เองที่ทำให้มาร์กอสประกาศใช้กฎอัยการศึก (Martial Law) ในเดือนกันยายน 1972 เพื่อรักษาอำนาจการปกครองของเขาให้ยาวนานออกไป
หนังสือพิมพ์ลงมาร์กอสประกาศกฎอัยการศึก (Martial Law) ปกครองประเทศยาวนานต่ออีก 9 ปี
(ภาพจาก https://anywhereiwander.files.wordpress.com)
มาร์กอสประกาศกฎอัยการศึกถึง 9 ปี ตั้งแต่ปี 1972-1981 ในช่วงนี้ นักประวัติศาสตร์จัดว่าเป็นช่วงที่ 2 ของยุคมาร์กอส ยุคนี้เศรษฐกิจฟิลิปปินส์กลับขยายตัวอย่างรวดเร็ว จนทำให้มาร์กอสกลายเป็นที่ชื่นชอบของชาวปินอย แต่ปัญหาความเหลื่อมล้ำและไม่เท่าเทียมยิ่งทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ธุรกิจส่วนใหญ่ยังตกอยู่ในมือของชาวจีน อำนาจของมาร์กอสมากขึ้นเรื่อย ๆ หนำซ้ำสหรัฐอเมริกายังคงหนุนหลังอยู่
ปัญหาฟิลิปปินส์ถูกซ้ำเติมด้วย กลุ่มกบฏมุสลิม โมโร ซึ่งอยู่ทางหมู่เกาะซูลูและมินดาเนา นอกจากนี้กระแสสงครามเย็นทำให้แนวคิดคอมมิวนิสต์ในฟิลิปปินส์เป็นกระแสต้านกับรัฐบาลมาร์กอส ไม่นับรวมกลุ่ม ผู้ไม่พอใจกับการผูกขาดอำนาจและปกครองประเทศด้วยความอำเภอใจ
หนึ่งในคู่แข่งทางการเมืองคนสำคัญของมาร์กอส คือ วุฒิสมาชิก เบนิกโน อาควิโน (Benigno Aquino) ซึ่งแสดงตัวต่อต้านคัดค้านอำนาจมาร์กอสมาโดยตลอด การต่อสู้ของอาควิโนทำให้เขาได้รับภัยการเมือง จนต้องขอลี้ภัยไปอยู่สหรัฐอเมริกาถึง 3 ปี
ต่อมาใครจะรู้ว่า ครอบครัวอาควิโนนี่เองที่จะกลายเป็นจุดเปลี่ยนทางการเมืองครั้งใหญ่ของฟิลิปปินส์ในปี 1986
ช่วงสุดท้ายของมาร์กอส นักประวัติศาสตร์เรียกว่า The Fourth Republic กินเวลาตั้งแต่ปี 1981-1986 ช่วงนี้เขายกเลิกกฎอัยการศึกและผ่อนคลายสังคมฟิลิปปินส์ได้ในระดับหนึ่ง
อย่างไรก็ดี เมื่อนายเบนิกโน กลับมาจากการลี้ภัยมายังฟิลิปปินส์ ในปี 1983 ทันทีที่เขาลงจากเครื่องบิน เขาถูกลอบสังหารที่สนามบิน Manila International Airport การลอบสังหารครั้งนี้กลายเป็นตัวจุดชนวนให้ผู้คนเริ่มต้นต่อต้านมาร์กอส
จนกระทั่งวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 1986 พลังประชาชนชาวปินอยได้สำแดงให้เห็นว่าพวกเขาไม่ยินยอมให้มาร์กอสปกครองประเทศนี้อีกต่อไป...การลุกขึ้นสู้ครั้งนั้นเรียกว่า Epiphania de los Santos Avenue (EDSA) หรือ 1986 People Revolution
People Revolution จะเป็นเช่นไรนั้น ติดตามได้ในตอนต่อไปนะครับ
สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.
ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด