เนื้อหาวันที่ : 2009-11-25 10:09:24 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1663 views

เปิดพิมพ์เขียวอุตฯ 20 ปีข้างหน้า สร้างสรรค์อย่างยั่งยืนทำได้จริงหรือ

ภาวะโลกร้อน เป็นกระแสที่ทั่วโลกต่างให้ความสำคัญ ภาคอุตสาหกรรมถูกมองว่าเป็นต้นทางของปัญหา สศอ. จึงลงมือศึกษาวิจัยอย่างจริงจัง เพื่อกำหนดกรอบทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมในอีก 20 ปีข้างหน้า การกำหนดวิสัยทัศน์การพัฒนานี้จะทำได้จริงหรือแค่ความฝัน ประเทศไทยจะ "มุ่งสู่อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ที่ยั่งยืน" ได้จริงหรือ

.

ภาวะโลกร้อน (Global Worming) เป็นกระแสที่ทั่วโลกต่างให้ความสำคัญ ซึ่งขณะนี้เริ่มส่งผลกระทบอย่างเป็นลูกโซ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกิดปรากฎการณ์ความแปรปรวนของดินฟ้าอากาศ หลายประเทศต้องเผชิญกับพายุฝนที่บ้าคลั่ง รุนแรงกว่าที่เคยเกิดขึ้นเมื่อปีผ่านมา ซึ่งภาคอุตสาหกรรมถูกมองว่าเป็นต้นทางของปัญหาดังกล่าว และคำถามที่ตามมาคือจะแก้ไขเยียวยาอย่างไร

.

สำหรับประเทศไทย กระทรวงอุตสาหกรรม โดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.)ได้เล็งเห็นความสำคัญต่อประเด็นนี้เป็นอย่างยิ่ง จึงได้ลงมือศึกษาวิจัยอย่างจริงจัง เพื่อกำหนดกรอบทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมในอีก 20 ปีข้างหน้า (พ.ศ. 2552-2572) โดยกำหนดวิสัยทัศน์การพัฒนา คือ “ มุ่งสู่อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ที่ยั่งยืน”

.

โดยให้น้ำหนักกับการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน มีขีดความสามารถการแข่งขันที่สูงขึ้นและที่สำคัญมุ่งเน้นไปที่การลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะช่วยลดภาวะโลกร้อนได้อีกทางหนึ่ง ตีกรอบทิศทางการพัฒนา 3 ระยะ ได้แก่ ระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ซึ่งจะเป็นการบูรณาการและกำหนดแนวทางพัฒนาอุตสาหกรรมทั้งระบบ เพื่อให้สามารถก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคง สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของโลก

.

ทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมในระยะสั้น (พ.ศ. 2552-2554) : Know Ledge–Based Industry เน้นการพัฒนาความรู้เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคอุตสาหกรรมและเป็นฐานต่อยอดสู่ด้านอื่น ๆ ต่อไป เช่น  ด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตในอุตสาหกรรมสำคัญ ๆ การพัฒนาการออกแบบที่เน้นเอกลักษณ์และความคิดสร้างสรรค์ การสร้างเครือข่ายความร่วมมือในระดับต่าง ๆ 

.

โดยเฉพาะการสร้างความเข้มแข็งและการเชื่อมโยงกันในกลุ่มอุตสาหกรรม เมื่ออุตสาหกรรมมีการสร้างโครงข่ายเชื่อมโยงกันได้จะช่วยลดต้นทุนการผลิตได้อีกทางหนึ่ง เช่น การส่งต่อวัตถุดิบในการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ จะช่วยประหยัดเวลา

.

นอกจากนั้นมุ่งเน้นเรื่องการสร้างความร่วมมือทางด้านการผลิต การค้า และการลงทุน ในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งไทยต้องก้าวสู่ในตำแหน่ง “ศูนย์กลางของภูมิภาค” ในด้านการขยายผลผลิต ด้านการคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ ให้ได้ภายในระยะสั้นนี้

.

ทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมในระยะกลาง (พ.ศ. 2555-2560) :  Innovative Industry จะเป็นการพัฒนาต่อยอดฐานความรู้โดยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ มาใช้ เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด โดยให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนา การเชื่อมโยงให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมควบคู่กับการเกษตรเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม

.

โดยเฉพาะการแปรรูปสินค้าการเกษตรด้วยเทคโนโลยีให้มีความหลากหลาย ซึ่งจะเป็นการสร้างความแตกต่างให้เกิดขึ้นโดยประเทศไทยมีจุดแข็งด้านวัถุดิบที่มีคุณภาพ มีพืชผลทางการเกษตรที่สามารถแปรรูปได้มากมาย นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมพื้นฐานที่เชื่อมโยง กับสนับสนุน

.

อุตสาหกรรมอื่น ๆ  เช่น พัฒนาอุตสาหกรรมเหล็กให้มีคุณภาพสูงขึ้น เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับสาขาอื่นๆ อีกมากมาย การขยายตัวอย่างต่อเนื่องของอุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมการก่อสร้างต่างๆ ซึ่งล้วนแต่ต้องการใช้เหล็กทั้งสิ้น เป็นต้น  

.

ขณะเดียวกันในการพัฒนาอุตสาหกรรมระยะที่ 2 นี้ จะมีการ บูรณาการภาคส่วนต่าง ๆ โดยผสมผสานความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและภูมิปัญญา รวมถึงการจัดเตรียมความพร้อมในการพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมเพื่อรองรับการเป็นประตูการค้าเชื่อมโยงภูมิภาคอาเซียน 

.

ทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมในระยะยาว (พ.ศ. 2561-2572) : Sustainable Industry การพัฒนาอุตสาหกรรมในระยะยาวเน้นการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยยึดแนวทางเศรษฐกิจสร้างสรรค์และการพัฒนาที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Creative and Green Economy) ซึ่งเป็นกระแสการพัฒนาของโลก และลดผลกระทบที่เกิดกับสังคมและสิ่งแวดล้อม 

.

เช่น การพัฒนาพื้นที่ให้เป็นพื้นที่การผลิตสีเขียว (Green Industrial Zone) โดยส่งเสริมกิจกรรมการผลิตที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ การผลิตที่คำนึงถึงความสมดุลและยั่งยืนในการผลิตและบริโภค โดยปรับปรุงรูปแบบการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมการผลิตที่สะอาดและสนับสนุนการผลิตและการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นต้น 

.

ซึ่งกรอบการพัฒนาทั้งหมดนั้นยืนอยู่บนพื้นฐานของความเป็นไปได้และความพร้อมที่ประเทศไทยมีไว้เป็นต้นทุน โดยอุตสาหกรรมบางกลุ่มของไทยยังมีศักยภาพในการพัฒนาได้อีกมาก จำเป็นต้องใช้โอกาสจากการเปลี่ยนแปลงของกระแสโลกให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยเฉพาะในประเด็นปัญหาภาวะโลกร้อนที่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพที่ภูมิอากาศ ทำให้เกิดการขาดแคลนอาหาร รวมถึงปัญหาการขาดแคลนพลังงานจากฟอสซิล ส่งผลให้ราคาพลังงานจากฟอสซิลสูงขึ้น ซึ่งเริ่มจะเป็นปัญหาใหญ่สั่งสมขึ้นเรื่อยๆ

.

ดังนั้น จึงเกิดกระแสของความต้องการในสินค้าที่ได้จากธรรมชาติ โดยเฉพาะพืชจึงเป็นโอกาสและความเป็นไปได้ของการที่จะพัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรมที่เชื่อมโยงกับภาคเกษตร ซึ่งเป็นจุดแข็งของประเทศไทยที่มีผลผลิตทางการเกษตรอยู่เป็นจำนวนมาก มาใช้ให้เกิดประโยชน์สร้างมูลค่าเพิ่มให้เกิดขึ้นทั้งในผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรและอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืนอีกด้วย

.

จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม นั่นคือ อุตสาหกรรมเชิงชีวภาพ ซึ่งหมายถึง อุตสาหกรรมที่มีองค์ประกอบที่ได้จากชีวภาพหรือจากพืช  เช่น  เอทานอล  ไบโอดีเซล  ที่นำไปใช้กับยานพาหนะต่างๆ พลาสติกชีวภาพ  เส้นใยชีวภาพ เป็นต้น  ซึ่งในอนาคตอุตสาหกรรมเชิงชีวภาพจะมีความสำคัญมากขึ้นเป็น ลำดับ

.

โดยอุตสาหกรรมเชิงชีวภาพ ถือเป็นทิศทางใหม่ของการพัฒนาอุตสาหกรรมให้เชื่อมโยงกับภาคการเกษตร ประกอบด้วย อุตสาหกรรมเชิงพลังงานชีวภาพ (Bio-Energy) อุตสาหกรรมเชิงวัสดุชีวภาพ (Bio-Material) และอุตสาหกรรมเชิงเคมี (Bio-Chemical) ซึ่งมีแนวทางการพัฒนาได้หลากหลาย โดยอุตสาหกรรมเชิงพลังงานชีวภาพ (Bio-Energy) สำหรับประเทศไทยมีการใช้พลังงานชีวภาพในรูปการแปรรูปของเหลวเป็นส่วนใหญ่ โดยปัจจุบันมีการพัฒนาพลังงานชีวภาพเพื่อนำมาใช้กับยานพาหนะและเป็นที่นิยมในกลุ่มผู้บริโภค

.

มากขึ้น เช่น เอทานอล ไบโอดีเซล อุตสาหกรรมเชิงวัสดุชีวภาพ (Bio-Material) ปัจจุบันมีการพัฒนาและประยุกต์ใช้ในทางการแพทย์อย่างแพร่หลาย  เช่น พลาสติกชีวภาพ  เส้นใยชีวภาพ และ อุตสาหกรรมเชิงชีวเคมี (Bio-Chemical) เป็นอุตสาหกรรมที่ใช้ประโยชน์จากการศึกษาถึงส่วนประกอบทางเคมีของสิ่งมีชีวิต  

.

เช่น ไคติน-ไคโตซาน ยีสต์ อูมามิน จุลินทรีย์ต่าง ๆ ซึ่งอุตสาหกรรมที่นำการศึกษาเหล่านี้ไปประยุกต์ใช้ในเชิงพาณิชย์ เช่น อุตสาหกรรมอาหารแปรรูปที่นำไปใช้ในกระบวนการถนอมอาหารและปรับแต่งรสชาติอาหาร อุตสาหกรรมยาและผลิตภัณฑ์เสริมสุขภาพและอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง เป็นต้น

.

ในอนาคตอุตสาหกรรมเชิงชีวภาพจะมีความสำคัญมากขึ้นเป็นลำดับ เนื่องจากแนวความคิดของผู้บริโภคกำลังจะเปลี่ยนแปลงไป เมื่อมนุษย์ได้รับผลกระทบจากการกระทำและพฤติกรรมการบริโภคของตนเอง เช่น การใช้ถุงพลาสติกในปริมาณที่มากเกินความจำเป็น ปัญหาที่ตามมาคือต้นทุนการย่อยสลายและกำจัดซึ่งสูงเป็นเงาตามตัว การใช้พลังงานอย่างฟุ่มเฟือย ปัญหาที่ตามมาคือก๊าซพิษที่ก่อให้เกิดปัญหาเรือนกระจกและเป็นปัญหาภาวะโลกร้อนที่กำลังประสบอยู่ในปัจจุบัน สิ่งเหล่านี้ทำให้ผู้บริโภคต้องคำนึงถึงสังคมและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น 

.

อย่างไรก็ตาม เมื่อการวางแผนพัฒนาอุตสาหกรรมในระยะยาว ย่อมเกี่ยวเนื่องกับหลายภาคส่วน จำเป็นอย่างยิ่งจะต้องได้รับความร่วมมืออย่างเต็มที่ โดย สศอ.ได้รับความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน เช่น สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

.

นักวิชาการ สถาบันการศึกษา ตลอดจนทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นการให้ความร่วมมือในการให้เข้าพบเพื่อสัมภาษณ์ การเข้าร่วมประชุมกลุ่มย่อย (Focus Group) และเข้าร่วมการประชุมระดมความคิดเห็นแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรม ทำให้เกิดการบูรณาการในการทำงานร่วมกัน อันส่งผลให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด และนำไปสู่การปฏิบัติเพื่อให้เกิดเป็นรูปธรรมต่อไป

.

ดังนั้น ในอีก 20 ปีข้างหน้า ภาคอุตสาหกรรมไทยจะก้าวผ่านความเปลี่ยนแปลง เป็นฐานรากที่แข็งแกร่งให้แก่ภาคเศรษฐกิจของประเทศได้หรือไม่อย่างไร ย่อมขึ้นอยู่กับทุกฝ่ายนั่นเอง เมื่อมีเป้าหมายที่แน่ชัดและทิศทางให้เดินชัดเจน ก็จะทำให้เราสามารถพุ่งทะยานไปข้างหน้าได้ อย่างเหนือชั้น ความสำเร็จนั้นอยู่ใกล้นิดเดียว

.
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม