หลังภาวะวิกฤตทางการเงินเริ่มคลี่คลาย เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าเริ่มปรับตัวดีขึ้น ไทยก็เหมือนจะได้รับอานิสงส์ โดยมูลค่าการส่งออกและภาคการผลิตหดตัวน้อยลง ดัชนีอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวอย่างสดใสจริงหรือไม่ หรือสัญญาณเศรษฐกิจที่เห็นเป็นแค่ภาพลวงตา บทวิเคราะห์นี้มีคำตอบ
บทสรุปผู้บริหาร |
. |
. |
- เดือนกันยายน 2552 มูลค่าสินค้าส่งออกหดตัวร้อยละ -8.5 ต่อปี ในขณะที่มูลค่าสินค้านำเข้า หดตัวร้อยละ -17.9 ต่อปี ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล 1,980 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งหากไม่นับรวมถึงการส่งออกทองคำแล้วมูลค่าการส่งออกจะหดตัวที่ร้อยละ -12.7 ต่อปี |
. |
- ปริมาณการส่งออกของไทยในไตรมาส 3 ปี 2552 หดตัวร้อยละ -15.8 ต่อปี ชะลอลงจากไตรมาสก่อนที่หดตัวร้อยละ -23.9 ต่อปี จากการที่เครื่องยนต์ใหญ่สุดในระบบเศรษฐกิจไทยปรับตัวดีขึ้น ถือเป็นปัจจัยบวกที่ทำให้ GDP ในไตรมาส 3 ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาส 2 ทั้งนี้ สศค. คาดว่า GDP ของประเทศไทยในไตรมาส 3 จะหดตัวอยู่ในช่วงร้อยละ (-3.0) - (-4.0) ต่อปี |
. |
- จากสัญญาณเศรษฐกิจคู่ค้าที่มีแนวโน้มฟื้นตัว จะทำให้ภาคส่งออกและภาคการผลิตของไทยปรับตัวดีขึ้นในไตรมาส 4 ของปี 2552 รวมถึงมีปัจจัยเกื้อหนุนจากแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง ทำให้สศค. คาดว่าในไตรมาส 4 ของปี 2552 นี้ เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 3.0 - 4.0 ต่อปี |
. |
1. ส่ง ออก-นำเข้าไทยในเดือนกันยายน 2552 ที่ฟื้นตัว...ฤาฝนกำลังซา |
มูลค่าสินค้าส่งออกแตะระดับสูงสุดในรอบ 11 เดือนที่ 14,905 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นการหดตัวที่ร้อยละ -8.5 ต่อปี หดตัวชะลอลงมากจากเดือนก่อนที่ร้อยละ -18.4 ต่อปี โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2552 มูลค่าสินค้าส่งออกหดตัวร้อยละ -21.4 ต่อปี ขณะที่มูลค่าสินค้านำเข้าอยู่ที่ระดับ 12,925 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สูงสุดในรอบ 10 เดือน หรือคิดเป็นการหดตัวที่ร้อยละ -17.9 ต่อปี |
. |
หดตัวชะลอลงมากจากเดือนก่อนที่ร้อยละ -32.8 ต่อปี โดยหดตัวร้อยละ -32.7 ต่อปี ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2552 เนื่องจากมูลค่านำเข้าสินค้าหดตัวมากกว่ามูลค่าส่งออกสินค้าทำให้ดุลการค้าเกินดุล 1, 980 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยเมื่อรวมทั้งหมด 9 เดือนแรกของปี 2552 ดุลการค้าเกินดุลสูงถึง 15.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ |
. |
สำหรับการส่งออกที่หักทองคำในเดือนกันยายน 2552 หดตัวร้อยละ -12.7 ต่อปี หดตัวลดลงจากเดือนก่อนที่ร้อยละ-20.2 ต่อปี ซึ่งเป็นการปรับตัวดีขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 ขณะที่ปริมาณการส่งออกหดตัวร้อยละ -8.0 ต่อปี นอกจากนี้ หากพิจารณามูลค่าการส่งออกที่ขจัดผลทางฤดูกาล (Seasonally Adjusted) แล้ว พบว่า การส่งออกในเดือนกันยายนขยายตัวจากเดือนสิงหาคมที่ร้อยละ 9.4 ต่อเดือน เช่นเดียวกับการส่งออกที่หักทองคำที่ขยายตัวจากเดือนก่อนร้อยละ 5.0 ต่อเดือน ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีของเศรษฐกิจไทย |
. |
ปัจจัยที่ทำให้การส่งออกในเดือนกันยายน 2552 หดตัวชะลอลงมาก ได้แก่ 1) เศรษฐกิจคู่ค้าหลักได้กลับสู่ภาวะฟื้นตัวหลังจากที่หดตัวในช่วงไตรมาสแรก ทำให้มีคำสั่งซื้อกลับมาในช่วงไตรมาส 2 และส่งผลให้การส่งออกของไทยปรับตัวดีขึ้นในไตรมาส 3 2) การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ซึ่งมีสัดส่วนใหญ่ที่สุดถึงร้อยละ 78.6 ของการส่งออกในเดือนกันยายน 2552 หดตัวเพียงร้อยละ -5.7 ต่อปี |
. |
ทำให้การส่งออกไทยหดตัวชะลอลงมาก 3) ราคาทองคำที่พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีการส่งออกทองคำเพื่อทำกำไรมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา โดยในเดือนกันยายน 2552 ได้มีการส่งออกทองคำมูลค่าทั้งสิ้น 1,012.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือคิดเป็นการขยายตัวสูงถึงร้อยละ 163.2 ต่อปี |
. |
ปัจจัยที่ทำให้การนำเข้าในเดือนกันยายน 2552 หดตัวชะลอลงมาก ได้แก่ 1) การนำเข้าสินค้าทุนปรับตัวดีขึ้นมาก โดยหดตัวเพียงร้อยละ -8.2 ต่อปี จากการนำเข้าเครื่องจักรที่เพิ่มขึ้นมาก 2) อุปสงค์ภายในประเทศมีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง โดยการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคหดตัวเพียงร้อยละ -5.9 ต่อปี ขณะที่การนำเข้ายานพาหนะกลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 2.0 ต่อปี |
. |
เมื่อพิจารณารายสินค้าและรายประเทศ จะพบว่า สินค้าในกลุ่มของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เคมีภัณฑ์ และผลิตภัณฑ์ยาง ส่งออกได้ดีในช่วงที่ผ่านมา อีกทั้งการส่งออกไปยังประเทศสหรัฐฯ ญี่ปุ่น จีน ออสเตรเลีย อินเดีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง |
. |
โดยเฉพาะการส่งออกไปยังประเทศจีนในเดือนกันยายน 2552 ที่ขยายตัวร้อยละ 4.5 ต่อปี ทำให้ประเทศจีนมีบทบาทต่อการส่งออกของไทยมากขึ้นในช่วงที่เศรษฐกิจโลกซบเซา ทั้งนี้ สามารถสรุปสินค้าส่งออกสำคัญ 5 รายการ(มีสัดส่วนรวมกันร้อยละ ของมูลค่าส่งออกรวมทั้งหมดของไทย) ที่มีการขยายตัวหรือหดตัวชะลอลงมากไปยังในแต่ละประเทศได้ |
. |
2. วิพากย์ GDP ในไตรมาส 3 ผ่านช่องทางการส่งออก |
ปริมาณการส่งออกของไทยในไตรมาส 3 หดตัวร้อยละ -15.8 ต่อปี ชะลอลงจากไตรมาสก่อนที่หดตัวร้อยละ -23.9 ต่อปี ผลจากปริมาณการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมที่หดตัวร้อยละ -14.5 ต่อปี ชะลอลงจากไตรมาสก่อนที่หดตัวร้อยละ -26.2 ต่อปี และเมื่อขจัดผลทางฤดูกาลออก ปริมาณการส่งออกในไตรมาส 3 ขยายตัวที่ร้อยละ 5.4 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เป็นที่ชัดเจนว่าการส่งออกในไตรมาส 3 ได้ฟื้นตัวจากไตรมาส 2 แล้ว |
. |
ปริมาณการส่งออกที่ฟื้นตัวอย่างชัดเจนทำให้เกิดกิจกรรมการผลิตเพิ่มมากขึ้น สอดคล้องกับดัชนีผลผิตภาคอุตสาหกรรมที่หดตัวน้อยลงจากไตรมาส 2 ที่ร้อยละ -10.7 ต่อปี มาอยู่ที่ร้อยละ -5.5 ต่อปี ในไตรมาส 3 ส่งผลให้การว่างงานช่วง 2 เดือนแรกของไตรมาส 3 อยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 1.2 ของกำลังแรงงานทั้งหมด และจะเป็นแรงผลักดันให้การบริโภครวมถึงการลงทุนปรับตัวดีขึ้นในระยะต่อไป |
. |
สำหรับประเทศไทย การส่งออกมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 72.1 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ด้านอุปสงค์ ดังนั้น การส่งออกในไตรมาส 3 ที่หดตัวชะลอลงจากไตรมาส 2 นั้น จะเป็นปัจจัยบวกที่ทำให้ GDP ในไตรมาส 3 หดตัวชะลอลงจากไตรมาส 2 ด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ สศค. คาดว่า GDP ของประเทศไทยในไตรมาส 3 จะหดตัวอยู่ในช่วงร้อยละ(-3.0) - (-4.0) ต่อปี หดตัวชะลอลงจากไตรมาส 2 ที่หดตัวร้อยละ -4.9 ต่อปี |
. |
3. คาดการณ์ส่งออกในไตรมาส 4 จากสัญญาณบวกทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า |
การคาดการณ์การส่งออกของไทยในไตรมาส 4 นั้น มีสมมุติฐานคือเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าเป็นสำคัญ ซึ่งหากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าปรับตัวดีขึ้น การส่งออกไทยย่อมปรับตัวดีขึ้นตามไปด้วย โดยประเทศคู่ค้าที่จะพิจารณาประกอบไปด้วยกลุ่มยูโรโซน สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และจีน ซึ่งมีสัดส่วนรวมร้อยละ 43.8 ของการส่งออกไทยในปี 2551 |
. |
สำหรับเครื่องชี้วัดทางเศรษฐกิจที่จะนำมาใช้ประกอบการพิจารณา ได้แก่ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ ยอดค้าปลีก การนำเข้าของประเทศจีน และดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค |
. |
ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม (Manufacturing PMI) เป็นดัชนีที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ใช้เป็นดัชนีชี้นำ (Leading Indicator) ของสภาพเศรษฐกิจนั้นๆ โดยดัชนีที่สูงกว่า 50 บ่งชี้ถึงการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมในขณะที่ดัชนีที่ต่ำกว่าระดับ 50 บ่งชี้ถึงการหดตัว |
. |
โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมของประเทศคู่ค้าสำคัญของไทยส่วนใหญ่ล้วนแล้วแต่กลับมาอยู่ในระดับที่บ่งชี้ถึงการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมทั้งสิ้น มีเพียงยูโรโซนที่ยังคงหดตัวเล็กน้อยอย่างไรก็ตาม ระดับดัชนีของกลุ่มประเทศยูโรโซนน่าจะกลับมาขยายตัวได้ จากระดับล่าสุดที่ 49.3 ณ เดือนกันยายน 2552 |
. |
ยอดค้าปลีก (Retail Sales) เป็นเครื่องบ่งชี้ถึงการบริโภคภาคเอกชนที่สำคัญ ซึ่งสามารถบ่งชี้ถึงทิศทางและแนวโน้มของเศรษฐกิจของประเทศที่เครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจมาจากอุปสงค์ภายในประเทศ ซึ่งหากดูทิศทางแล้ว พบว่านอกจากยูโรโซนแล้ว ยอดค้าปลีกของคู่ค้าหลักของไทยล้วนแล้วแต่มีแนวโน้มที่ดีขึ้น ซึ่งจะบ่งชี้ถึงความสามารถในการส่งออก ทั้งสินค้าขั้นกลางและสินค้าสำเร็จของไทยที่มีแนวโน้มดีขึ้น |
. |
ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค เป็นดัชนีที่ชี้ให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของผู้บริโภคต่อเศรษฐกิจ โดยเฉพาะผลกระทบที่มีต่อรายได้ของผู้บริโภค ทั้งนี้ หากดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเพิ่มขึ้น ย่อมส่งผลให้การบริโภคโดยรวมจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้นในอนาคตอันใกล้ ซึ่งจะส่งผลต่อดีการส่งออกของไทย โดยเฉพาะสินค้าขั้นกลางและสินค้าสำเร็จ ที่เกี่ยวข้องกับสินค้าคงทน โดยดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคของประเทศคู่ค้าหลักของไทยนั้น ล้วนแล้วแต่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น |
. |
การนำเข้าที่เร่งขึ้นของประเทศจีน จีนเป็นประเทศที่ช่วยฉุดรั้งเศรษฐกิจโลกไม่ให้หดตัวตามที่ควรจะเป็นผ่านช่องทางการนำเข้าที่ได้รับแรงสนับสนุนจากแผนกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล โดยประเทศที่ได้รับอานิสงส์จากจีนส่วนใหญ่จะเป็นประเทศที่พึ่งพาการส่งออก ไม่ว่าจะเป็น ไต้หวัน ฮ่องกง เกาหลีใต้ รวมถึงไทยด้วย ซึ่งล่าสุดในเดือนกันยายน 2552 การนำเข้าของจีนหดตัวเพียงร้อยละ -3.5 ต่อปี จากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -16.9 ต่อปี จากสถานการณ์ในปัจจุบันเป็นที่แน่นอนว่าในอนาคตจีนจะมีบทบาทที่มากขึ้นในวงการการค้าโลก |
. |
แม้ยังคงมีความเสี่ยงจากอัตราการว่างงาน โดยเฉพาะสหรัฐฯและยูโรโซนที่อัตราการว่างงานล่าสุดพุ่งขึ้นสูงเป็นประวัติการณ์ แต่สัญญาณทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักที่มีแนวโน้มดีขึ้นตามลำดับ ทำให้สศค. คาดว่า การส่งออกของไทยในไตรมาส 4 จะมีทิศทางที่สดใส |
. |
อีกทั้งยังมีโอกาสที่การส่งออกจะกลับมาขยายตัวเป็นบวกในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของไตรมาส และมีความน่าจะเป็นสูงที่จะทำให้การส่งออกของไทยในปี 2552 หดตัวน้อยกว่าที่สศค.ประมาณการไว้ ณ เดือนกันยายน 2552 ที่ร้อยละ -17.2 ต่อปี |
. |
นอกจากนี้ การส่งออกที่ฟื้นตัวนั้น จะทำให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม(MPI) ของไทยฟื้นตัวตามอย่างแน่นอน รวมถึงแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ที่ได้เริ่มเบิกจ่ายในไตรมาส 4 ปี 2552 นี้ จะเป็น 3 พลังปัจจัยหลักที่จะผลักดันให้GDPในไตรมาส 4 ของไทยกลับมาขยายตัวอีกครั้ง ซึ่งสศค. คาดว่า จะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 3.0 - 4.0 ต่อปี |
. |
ที่มา : กระทรวงการคลัง |