เนื้อหาวันที่ : 2008-09-18 10:45:02 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2724 views

ภาวะโลกร้อนผลที่มีต่ออุตสาหกรรมไทย

ภาวะโลกร้อน หรือภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงเป็นปัญหาใหญ่ของโลกในปัจจุบัน สังเกตได้จากอุณหภูมิของโลกที่สูงขึ้นเรื่อยๆ โดยสาเหตุหลักของปัญหานี้มาจาก ก๊าซเรือนกระจก อัตราผู้เสียชีวิตจากโลกร้อนจะพุ่งสูงถึง 300,000 คนต่อปี ใน 25 ปีต่อจากนี้ ระดับน้ำทะเลจะสูงขึ้น 20 ฟุต พื้นที่บางประเทศอาจจมอยู่ใต้น้ำ

ภาวะโลกร้อน (Global Warming) หรือภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง (Climate Change) เป็นปัญหาใหญ่ของโลกในปัจจุบัน สังเกตได้จากอุณหภูมิของโลกที่สูงขึ้นเรื่อยๆ โดยสาเหตุหลักของปัญหานี้มาจาก ก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse gases) 6 ชนิด  ที่ระบุในพิธีสารเกียวโตคือ Carbon dioxide (CO2), Methane (CH4), Nitrous Oxide (N2O), Hydrofluorocarbons (HFCS), Perfluorocarbons (PFCS) และ Sulphur hexafluoride (SF6)

. 

 

.
ปรากฏการณ์เรือนกระจกคืออะไร มีความสำคัญกับโลกอย่างไร

ปรากฏการณ์เรือนกระจก เกิดจากเหล่าก๊าซข้างต้น เช่น ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หรือมีเทน มีปริมาณมากในชั้นบรรยากาศ จะกักเก็บความร้อนบางส่วนไว้ในโลกไม่ให้สะท้อนกลับสู่บรรยากาศทั้งหมด มิฉะนั้นโลกจะกลายเป็นแบบดวงจันทร์ ที่ตอนกลางคืนหนาวจัดและตอนกลางวันร้อนจัด เพราไม่มีบรรยากาศคอยกรองพลังงานจากดวงอาทิตย์ การทำให้โลกอุ่นขึ้นโดยการกักเก็บความร้อนของก๊าซฯและชั้นบรรยากาศ คล้อยกับหลักการของเรือนกระจกที่ใช้ปลูกพืชที่มีกระจกคอยกักความร้อนไว้ส่วนหนึ่ง

 .
การเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ซึ่งเป็นก๊าซที่ถูกปล่อยมากที่สุด ออกมาจากโรงงานอุตสาหกรรม รถยนต์ หรือการกระทำใดๆ ที่เผาเชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น ถ่านหิน น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติหรือสารประกอบไฮโดรคาร์บอน ส่งผลให้ระดับปริมาณก๊าซ CO2 ในปัจจุบันสูงเกิน 300 ppm (300 ส่วน ในล้านส่วน) เป็นครั้งแรกในรอบกว่า 6 แสนปี โดยก๊าซ CO2 และก๊าซเรือนกระจกอื่น ๆ เป็นตัวการกักเก็บความร้อนจากแสงอาทิตย์ไว้ไม่ให้คายออกสู่บรรยากาศ
 .

เป็นสิ่งที่ดีเพราะทำให้โลกของเรามีอุณหภูมิอบอุ่น สิ่งมีชีวิตสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ แต่ปัจจุบันการเผาผลาญเชื้อเพลิงฟอสซิลต่างๆ เช่น ถ่านหิน น้ำมันเชื้อเพลิง และการตัดไม้ทำลายป่า เกิดขึ้นจนเกินการควบคุม ส่งผลให้ปริมาณก๊าซ CO2 ในชั้นบรรยากาศเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลของโลกที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หรือภัยธรรมชาติต่างๆ ที่เกิดขึ้นให้เห็นแล้ว ได้แก่

 .
  • จำนวนพายุ Hurricane ระดับ 4 และ 5 เพิ่มขึ้นสองเท่า ในรอบสามสิบปีที่ผ่านมา
  • เชื้อมาลาเรียได้แพร่กระจายไปในที่สูงขึ้น แม้แต่ใน Columbian Andes ที่ความสูง 7,000 ฟุต เหนือระดับน้ำทะเล
  • น้ำแข็งในธารน้ำแข็งเขตกรีนแลนด์ ละลายเพิ่มมากขึ้นเป็นสองเท่าในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา
  • สัตว์ต่างๆ อย่างน้อย 279 สายพันธุ์ กำลังตอบสนองต่อภาวะโลกร้อน โดยพยายามย้ายถิ่นอาศัย  

นอกจากนี้รายงานปี 2544 ของคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยความเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ หรือ ไอพีซีซี (UN Intergovernmental Panel on Climate Change : IPCC) ระบุในรอบ 50 ปีที่ผ่านมา อุณหภูมิของผิวโลกเพิ่มขึ้นราว 0.1 องศาเซลเซียสทุกๆ 10 ปี โดยปัจจัยซึ่งทำให้โลกร้อนขึ้นนี้ล้วนมาจากฝีมือมนุษย์ และได้พยากรณ์ว่าภายในปี พ.ศ. 2643 อุณหภูมิชั้นบรรยากาศของโลกจะเพิ่มขึ้นระหว่าง 1.4-5.8 องศาเซลเซียสและระดับน้ำทะเลอาจสูงขึ้นประมาณ 0.09-0.88 เมตร ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่ามีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมามากน้อยเพียงใด

 .
ในอนาคตมีการประเมินจากความเสียหายที่เคยเกิดขึ้นและนำมาพยากรณ์เหตุภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้น คือ
  • อัตราผู้เสียชีวิตจากโลกร้อนจะพุ่งสูงถึง 300,000 คนต่อปี ใน 25 ปีต่อจากนี้
  • ระดับน้ำทะเลจะสูงขึ้น 20 ฟุต พื้นที่บางประเทศอาจจมอยู่ใต้น้ำ
  • คลื่นความร้อนจะมาบ่อยขึ้นและรุนแรงขึ้น
  • ภาวะฝนแล้งและไฟป่าจะเกิดบ่อยขึ้น
  • มหาสมุทรอาร์กติกาจะไม่เหลือน้ำแข็ง ภายในฤดูร้อน ปี พ.ศ. 2593
  • สิ่งมีชีวิตกว่าล้านสายพันธุ์เสี่ยงที่จะสูญพันธุ์  
พิธีสารเกียวโตกับการซื้อขายสิทธิ์การปล่อยก๊าซโลกร้อน และผลที่มีต่อประเทศไทย

พิธีสารเกียวโต เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2540 ซึ่งเป็นข้อตกลงประวัติศาสตร์ในระดับนานาชาติที่มีผลใช้บังคับอย่างเป็นทางการในปี พ.ศ. 2548 มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มนุษย์ผลิตขึ้น อันเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้อุณหภูมิของโลกเพิ่มสูงขึ้นและประสบปัญหาภาวะโลกร้อน (Global Warming) โดยกำหนดให้ประเทศพัฒนาแล้วต้องถูกกำหนดปริมาณการปล่อยก๊าซโลกร้อน แต่ในทางปฏิบัติประเทศกลุ่ม G8 สหรัฐอเมริกาและออสเตรเลีย เป็นประเทศที่ไม่ยอมลงสัตยาบันในพิธีสารดังกล่าว อันเนื่องมาจากต้นทุนการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมจะเพิ่มขึ้น

 .

จากการที่ต้องใช้เงินไปแลกกับสิทธิ์ในการปล่อยก๊าซกับประเทศกำลังพัฒนาและในที่สุดจะสูญเสียความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศอื่นๆ เช่น จีน ที่ถูกกำหนดว่าเป็นประเทศที่กำลังพัฒนา แต่ในความเป็นจริงแล้วเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซในลำดับต้นๆ ของโลก จึงทำให้พิธีสารเกียวโตยังไม่สามารถมีผลในทางปฏิบัติที่แท้จริง แต่ก็ทำให้เกิดปฏิกิริยาจากประเทศผู้นำด้านนวัตกรรม คือ เยอรมันและญี่ปุ่น ที่คิดค้นสร้างอุปกรณ์ให้มีเทคโนโลยีที่สูงขึ้น เช่น โรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติ โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ และรถยนต์ไฮบริด เพื่อลดการปล่อยก๊าซโลกร้อน และลดค่าใช้จ่ายของประเทศหากต้องเสียค่าการปล่อยก๊าซโลกร้อน ที่คำนวณจากข้อมูลในปัจจุบัน

.

 

.
ผลที่มีต่อประเทศไทย ... ที่เราควรตระหนัก

ประเทศไทยได้ลงสัตยาบันในพิธีสารเกียวโต ซึ่งเดิมเป็นประเทศที่ไม่ถูกจำกัดการปล่อยก๊าซโลกร้อน เนื่องจากเป็นประเทศกำลังพัฒนา แต่หากมีการพิจารณาข้อมูลในปัจจุบันจะพบว่าไทยอาจถูกกำหนดให้เป็นประเทศที่ต้องจำกัดการปล่อยก๊าซโลกร้อน เนื่องจากไทยติดอันดับ 9 ของโลกที่ปล่อยก๊าซสูงสุด จากข้อมูลการวิจัยเมื่อปี พ.ศ.2543 ของ รศ. ดร.สิรินทรเทพ เต้าประยูร ประธานสายสิ่งแวดล้อม บัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม (JGSEE) ระบุว่า ประเทศไทยปล่อยก๊าซโลกร้อน 172 ล้านตันต่อปีหรือคนไทย 1 คนปล่อยก๊าซโลกร้อนมากถึง 2.18 ล้านตันต่อปี หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 0.8 เมื่อเทียบกับประชากรทั่วโลก

 .

อันดับหนึ่งอย่างสหรัฐฯ ปล่อยก๊าซโลกร้อน 5,762 ล้านตันต่อปี หรือคนละ 19.7 ตันต่อปี ขณะที่ญี่ปุ่นปล่อยก๊าซโลกร้อนปีละ 1,225 ล้านตันต่อปี และเมื่อพิจารณาตามภาคอุตสาหกรรมสำคัญ พบว่า ก๊าซโลกร้อนมาจากกิจกรรมของภาคการผลิตไฟฟ้าร้อยละ 43 ภาคการขนส่งร้อยละ 32 และภาคอุตสาหกรรมร้อยละ 25

 .

ดังนั้น เพื่อเป็นการลดผลกระทบที่คาดว่าจะตามมาในอนาคตตามพิธีสารเกียวโต ซึ่งได้บรรจุกลไกสำคัญไว้ 3 อย่าง โดยกลไกที่เกี่ยวข้องกับประเทศกำลังพัฒนามีชื่อว่า กลไกการพัฒนาที่สะอาด (Clean Development Mechanism หรือ CDM ) ซึ่งหมายถึง การดำเนินการร่วมกันระหว่างประเทศอุตสาหกรรมกับประเทศกำลังพัฒนา เพื่อช่วยให้กลุ่มประเทศอุตสาหกรรมของโลก

 .

รวมถึงประเทศพัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป และประเทศในกลุ่มยุโรปตะวันออกเดิมรวม 41 ประเทศ สามารถบรรลุเป้าหมายของการลดการปล่อยก๊าซให้ได้ตามพันธกรณี ควบคู่ไปกับการช่วยให้ประเทศกำลังพัฒนาสามารถพัฒนากิจกรรมของตนอย่างยั่งยืน โดยประเทศพัฒนาแล้วจะมาลงทุนดำเนินโครงการเพื่อให้เกิดการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในประเทศกำลังพัฒนา เช่น กิจกรรมการปลูกป่าและปรับคุณภาพดิน หรือการสนับสนุนการใช้พลังงานที่สะอาดทดแทนพลังงานจากฟอสซิล

 .

จากนั้นก็จะนำปริมาณก๊าซที่ลดได้จากการดำเนินกิจกรรมนั้น (เรียกว่าโครงการ CDM) มาคำนวณ เปรียบเสมือนกับว่าประเทศตนได้ดำเนินการลดก๊าซเรือนกระจกไปแล้วในประเทศของตนเอง ทั้งนี้การดำเนินการจะต้องทำอย่างสมัครใจโปร่งใส และมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากประเทศพัฒนาแล้วให้แก่ประเทศกำลังพัฒนาด้วย ประเทศไทยอาจได้ประโยชน์จากพิธีสารเกียวโตจากการทำโครงการ CDM ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการจัดเตรียมของภาครัฐ

 .
ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับภาคอุตสาหกรรมไทย
+ ผลด้านบวก
  1. โรงงานอุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานชีวมวลเป็นเชื้อเพลิงในการประกอบการ เช่น โรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม โรงงานน้ำตาล และโรงงานอื่นๆ มีการพัฒนานำพลังงานกลับมาใช้ใหม่ และลดการปลดปล่อยปริมาณก๊าซคาร์บอนไดอกไซด์สู่บรรยากาศโดยบำบัดด้วยน้ำ และได้รับประโยชน์จากการเปลี่ยนเทคโนโลยีใช้ของเหลือจากการผลิตอย่างสร้างสรรค์ สามารถลดต้นทุนพลังงานได้  
  2. โรงงานผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ ลม และคลื่น ได้รับการพัฒนาและส่งเสริมการใช้อย่างแพร่หลาย เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับแหล่งพลังงานในอนาคต ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการผลิตอุปกรณ์ผลิตกระแสไฟฟ้าถูกลง
  3. โรงงานอุตสาหกรรมผลิตยา เคมีภัณฑ์และเวชภัณฑ์ สามารถรองรับโอกาสการเกิดขึ้นของโรค และเชื้อโรคที่เป็นทั้งโรคเก่าที่เคยเกิดและหายไป รวมทั้งโรคใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในแหล่งที่ไม่เคยเกิด โดยสามารถพัฒนาตัวยาหรือเวชภัณฑ์ใหม่ๆ
  4. อุตสาหกรรมผลิตอุปกรณ์และเครื่องใช้ไฟฟ้าได้รับการพัฒนาเทคโนโลยีที่สอดรับกับแหล่งพลังงานใหม่ๆ และเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ไฟฟ้าในปริมาณที่ต่ำกว่าเดิม ซึ่งจะส่งผลดีต่อผู้บริโภคด้วย
  5. อุตสาหกรรมผลิตอุปกรณ์บำบัด/กำจัด/นำก๊าซกลับมาใช้ใหม่ จะมีการพัฒนารูปแบบและความหลากหลายให้เหมาะสมกับอุตสาหกรรมแต่ละประเภทที่ต้องใช้มากขึ้น
  6. อุตสาหกรรมผลิตบรรจุภัณฑ์ชีวภาพ จะได้รับการส่งเสริมและพัฒนามากขึ้น เพื่อรองรับการบังคับใช้กฎระเบียบการนำเข้าของประเทศพัฒนาแล้ว เช่น สหภาพยุโรป
  7. อุตสาหกรรมสี สารเคลือบผิว และอุปกรณ์ฉนวนกันความร้อน จะมีการวิจัยพัฒนาวัตกรรมเพื่อรองรับสภาวะความผันผวนของสภาพภูมิอากาศ เช่น คุณภาพของสีที่มีความคงทนทุกสภาวะอากาศ
 .
- ผลด้านลบ
  1. อุตสาหกรรมที่ใช้วัตถุดิบจากภาคเกษตรกรมกำลังได้รับผลกระทบจากความผันผวนของวัตถุดิบ และการแสวงหาแหล่งวัตถุดิบใหม่ ทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น ตัวอย่างที่เกิดขึ้น ได้แก่ การอพยพย้ายถิ่นที่อยู่ของปลาทูน่า ทำให้ปริมาณปลาที่จับได้ลดลง โคนมให้ปริมาณนมลดลง นอกจากนี้ธัญพืชหลายชนิดมีปริมาณผันผวนและได้รับความเสียหาย ทำให้ระดับราคาปรับตัวสูงขึ้น เช่น ข้าวโพด ถั่วเหลือง และพืชน้ำมันอื่นๆ นอกเหนือจากปาล์ม ได้แก่ ดอกทานตะวันและเรปซีด
  2. อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ใช้และปลดปล่อยพลังงานหรือก๊าซโลกร้อนออกสู่สิ่งแวดล้อมในปริมาณมาก เช่น โรงงานอุตสาหกรรมถลุงเหล็ก กระจก กระดาษ ปูนซีเมนต์ และโรงงานเหล็กและผลิตภัณฑ์ขึ้นรูปต่างๆ ต้องปรับปรุงโดยเพิ่มอุปกรณ์ดักเก็บหรือบำบัด เพื่อให้ก๊าซที่ปล่อยมีปริมาณลดลงและคุณภาพเป็นไปตามที่รัฐกำหนด ทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้นมาก
  3. โรงงานผลิตไฟฟ้าจากการเผาฟอสซิล โรงงานไฟฟ้าถ่านหิน รวมทั้งเหมืองถ่านหิน ต้องเสียต้นทุนเพิ่มในเรื่องการลดการปล่อยก๊าซ ซึ่งจะส่งผลโดยตรงกับอุตสาหกรรมอื่นๆ เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของต้นทุนและราคาเชื้อเพลิงอาจส่งผลต่อการปรับราคาค่าไฟฟ้าที่จะทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น และส่งผลต่อประชาชนด้วยเช่นกัน
  4. โรงกลั่นน้ำมันและโรงแยกก๊าซธรรมชาติ ต้องปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีและเพิ่มอุปกรณ์บำบัดก๊าซ ทำให้ต้นทุนการกลั่นหรือแยกก๊าซเพิ่มขึ้น ส่งผลต่อระดับราคาของผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมต่อเนื่องและโรงงานปิโตรเคมี ที่จะมีต้นทุนวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมต่อเนื่องเพิ่มขึ้น
  5. โรงงานผลิตเครื่องใช้และอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ไม่สามารถปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีให้สามารถประหยัดไฟฟ้า จะถูกทดแทนจากสินค้าที่ใช้พลังงานต่ำกว่า ซึ่งอาจเกิดการเปลี่ยนแปลงย้ายฐานการผลิตการลงทุนไปสู่แหล่งที่พร้อมกว่า
  6. โรงงานบรรจุภัณฑ์จากพลาสติก และอุตสาหกรรมที่ใช้บรรจุภัณฑ์ที่ผลิตจากโรงงานที่ไม่มีระบบการบำบัด จะถูกกีดกันทางการค้าเพิ่มขึ้น โดยประเทศพัฒนาแล้วจะนำประเด็นการปล่อยก๊าซโลกร้อนมาเป็นข้ออ้างในการกีดกันทางการค้า และจะส่งผลต่อเนื่องกับอุตสาหกรรมอื่นๆ ตามมา
  7. การปรับเปลี่ยนและการกำหนดประเทศที่ต้องถูกจำกัดการปล่อยก๊าซโลกร้อน หากทุกประเทศลงสัตยาบันในพิธีสารเกียวโต คาดว่าจะมีการกำหนดประเทศที่ต้องถูกกำจัดฯ ใหม่ และประเทศไทยอาจเป็นหนึ่งในประเทศที่ต้องเสียสิทธิ์การขายคาร์บอนเครดิต และจะต้องจัดทำโครงการ CDM ให้กับประเทศเพื่อนบ้านแทนการที่จะได้รับจากประเทศพัฒนาแล้ว
  8. ขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมของไทยปัจจุบันแทบจะไม่ได้เปรียบประเทศคู่แข่ง หากถูกประเด็นการกีดกันทางการค้าในรูปแบบการใช้ปริมาณการปล่อยก๊าซโลกร้อน และสินค้าที่ผลิตได้ต้องถูกทำให้มีต้นทุนเพิ่มขึ้นจากการปรับเทคโนโลยีที่ต้องนำเข้าจากประเทศที่เป็นเจ้าของเทคโนโลยีด้วยแล้ว ยิ่งจะทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันในภาพรวมยิ่งด้อยลงไปอีก

 

.

สำหรับในประเด็นที่คาดว่าแย่ที่สุดจากการลงนามในพิธีสารดังกล่าว คือ การสูญเสียโอกาสที่ไทยจะเป็นผู้ได้รับเงินจากการขายสิทธิ์คาร์บอนเครดิต หรือได้รับเงินสนับสนุนในการทำโครงการ CDM หากสมมติว่ามีการพิจารณาข้อมูลการปล่อยก๊าซโลกร้อนในปัจจุบัน เพื่อกำหนดกลุ่มประเทศใหม่ๆ ที่ต้องเปลี่ยนจากผู้รับเป็นผู้จ่ายเงินเพื่อซื้อสิทธิ์คาร์บอนเครดิต เนื่องจากปริมาณการปล่อยก๊าซโลกร้อนของไทยที่เพิ่มขึ้นจนติดอันดับต้น ๆ

 .

ส่งผลโดยตรงกับอุตสาหกรรมการผลิตขนาดใหญ่ที่ยังผลิตในประเทศอยู่ เช่น อุตสาหกรรมปิโตรเคมีและพลาสติก อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า (โรงถลุงเหล็กที่กำลังก่อสร้าง) โรงไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหินหรือน้ำมันเป็นเชื้อเพลิง โรงกลั่นน้ำมัน โรงงานผลิตปูนซีเมนต์ และอุตสาหกรรมการผลิตที่ปล่อยก๊าซโลกร้อนโดยไม่มีการบำบัดจะต้องมีต้นทุนเพิ่มขึ้นในอนาคต โดยรัฐบาลถูกพันธกรณีที่ลงสัตยาบันไว้กำหนดให้ต้องจ่ายค่าปล่อยก๊าซโลกร้อน

 .

ซึ่งจะส่งผลต่อขีดความสามารถในการแข่งขันโดยรวมของประเทศในที่สุด ทั้งนี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องให้ความสำคัญกับเรื่องการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีการผลิตให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และควรมีการศึกษาการนำก๊าซที่จะปล่อยออกสู่สิ่งแวดล้อมกลับมาใช้ประโยชน์มากยิ่งขึ้น รวมทั้งโครงการปลูกป่าที่ต้องดำเนินการควบคู่กันไปอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งการกระทำที่กล่าวมาจะมีประสิทธิภาพได้จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือและแรงสนับสนุนจากทั้งภาครัฐและเอกชน

 .

โดยเฉพาะคนไทยทุกคนควรตระหนักและหันมาร่วมมือกันช่วยลดปัญหาโลกร้อน และยึดตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการประหยัดการใช้พลังงาน รวมถึงปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้อย่างฟุ่มเฟือย หันมาใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าประหยัดพลังงาน เดินทางด้วยรถสาธารณะมากขึ้น ลดการใช้ถุงพลาสติก กระดาษ หรือใช้ซ้ำให้ได้มากที่สุด และสนับสนุนสินค้าจากบริษัทที่มีนโยบายอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมมากกว่าบริษัทที่ยังไม่เห็นคุณค่า หากเราร่วมมือกันเปลี่ยนพฤติกรรมตามตัวอย่างเหล่านี้ ก็จะทำให้โลกของเราคลายร้อนลงได้บ้าง

.
แหล่งข้อมูลอ้างอิง
  • บทความพิเศษ วงกต วงศ์อภัย คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตีพิมพ์ในมติชนรายสัปดาห์ หน้า 30 วันที่ 18 มีนาคม พ.ศ.2548 ปีที่ 25 ฉบับที่ 1283
  • วารสารสารคดี ฉบับเดือนมีนาคม 2550
 ..
วิเคราะห์เรียบเรียงโดย : บวร กิติไพศาลนนท์ สำนักนโยบายอุตสากรรมรายสาขา 2
ที่มา : วารสาร เศรษฐกิจอุตสาหกรรม สศอ.