เนื้อหาวันที่ : 2008-02-12 12:19:11 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2366 views

มาตรการ 30% : จะยกเลิกหรือไม่ยกเลิกกันแน่ ?

ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา ประเด็นทางเศรษฐกิจที่มีการพูดถึงและวิพากษ์วิจารณ์กันมากคงหนีไม่พ้นเรื่องของการคาดการณ์ว่าทางการจะยกเลิกมาตรการดำรงเงินสำรองเงินนำเข้าระยะสั้น หรือที่เรียกกันสั้น ๆ ว่า มาตรการ 30% หรือไม่ และหากจะยกเลิก จะยกเลิกเมื่อไร และผลกระทบที่ตามมาจะเป็นอย่างไร โดยมีผู้ออกมาให้ทัศนะมากมาย ทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับการยกเลิกมาตรการดังกล่าว ซึ่งแต่ละฝ่ายต่างก็มีเหตุผลสนับสนุนอย่างแข็งขันและน่าเชื่อถือ จนเกิดคำถามตามมาว่า แล้วทางการควรจะยกเลิกหรือไม่ยกเลิกมาตรการ 30% กันแน่ ?

ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา ประเด็นทางเศรษฐกิจที่มีการพูดถึงและวิพากษ์วิจารณ์กันมากคงหนีไม่พ้นเรื่องของการคาดการณ์ว่าทางการจะยกเลิกมาตรการดำรงเงินสำรองเงินนำเข้าระยะสั้น หรือที่เรียกกันสั้น ๆ ว่า มาตรการ 30% หรือไม่ และหากจะยกเลิก จะยกเลิกเมื่อไร และผลกระทบที่ตามมาจะเป็นอย่างไร โดยมีผู้ออกมาให้ทัศนะมากมาย ทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับการยกเลิกมาตรการดังกล่าว ซึ่งแต่ละฝ่ายต่างก็มีเหตุผลสนับสนุนอย่างแข็งขันและน่าเชื่อถือ จนเกิดคำถามตามมาว่า แล้วทางการควรจะยกเลิกหรือไม่ยกเลิกมาตรการ 30% กันแน่ ?

.

ก่อนจะตอบคำถามทั้งหมดข้างต้น เราต้องย้อนกลับมาดูสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศกันก่อนปัจจุบันเศรษฐกิจของประเทศอยู่ในภาวะที่เงินเฟ้อเริ่มสูงขึ้น (อัตราเงินเฟ้อในเดือนมกราคม 2551 อยู่ที่ 4.3% เพิ่มขึ้นจากเดือนธันวาคม 2550 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 3.2% และยังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องในช่วงครึ่งแรกของปี 2551) ขณะที่การขยายตัวทางเศรษฐกิจอาจชะลอลงได้หากปัญหาในภาคการเงินในสหรัฐฯ ลุกลามเป็นวงกว้าง จนส่งผลกระทบมาถึงเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก และกระทบต่อการส่งออกของไทย

.

จากโจทย์ข้างต้น สิ่งที่ต้องเร่งแก้ไข คือ

1.เงินเฟ้อ 

2. การชะลอตัวทางเศรษฐกิจ     

.

โดยทั่วไป ปัญหาเงินเฟ้อต้องแก้ไขด้วยการขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพื่อชะลอการสูงขึ้นของราคาสินค้า แต่เนื่องจากต้นเหตุของเงินเฟ้อในปัจจุบันมาจากราคาพลังงานที่สูงขึ้น การขึ้นดอกเบี้ยจึงไม่สามารถแก้ปัญหาเงินเฟ้อที่เกิดจากปัจจัยด้านอุปทาน (Cost Push Inflation) ในทางกลับกัน การขึ้นอัตราดอกเบี้ยกลับจะยิ่งซ้ำเติมเศรษฐกิจให้ชะลอตัวลงเร็วขึ้น เพราะผู้ประกอบการมีต้นทุนทางการเงินสูงขึ้น ดังนั้น การแก้ปัญหาเงินเฟ้อที่เกิดจากปัจจัยด้านอุปทานให้ตรงจุดจึงอยู่ที่การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานภายในประเทศ หรือการพัฒนาพลังงานทางเลือก ซึ่งเป็นมาตรการระยะยาว     

.

สำหรับการชะลอตัวของเศรษฐกิจ ต้องแก้ด้วยการขยายการลงทุน เพราะจะทำให้เกิดการจ้างงานและการบริโภคตามมา อันจะเป็นตัวช่วยหนุนเศรษฐกิจให้ขยายตัวต่อไปได้ ซึ่งประเด็นการขยายการลงทุนนี้เองที่โยงมาถึงเรื่องของความจำเป็นในการยกเลิกมาตรการ 30%

.
ยกเลิกมาตรการ 30% : ปลดล็อค...ภาคการผลิตที่แท้จริง

อย่างไรก็ตาม สาเหตุหนึ่งที่ทำให้การลงทุนขยายตัวได้ไม่ดีนัก เป็นเพราะการลงทุนของภาคการผลิตที่แท้จริง (Real Sector) ถูกล็อคด้วยมาตรการ 30% ตลอด 1 ปีเศษที่ผ่านมา เพราะนักลงทุนที่ต้องการลงทุนใหม่หรือขยาย การลงทุน หรือบริษัทแม่ในต่างประเทศที่ต้องการขยายการลงทุนของบริษัทลูกในประเทศไทยมีภาระต้องกันสำรองถึง 30% ของเงินทุนที่นำเข้ามา ทำให้มีเงินเหลือไปลงทุนได้เพียง 70% จนกว่าจะลงทุนเกิน 1 ปี จึงจะสามารถนำเงินที่ถูกหักสำรองไว้คืนได้ ซึ่งเท่ากับนักลงทุนมีต้นทุนเพิ่มขึ้น

.

ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ หากทางการไม่รีบยกเลิกมาตรการ 30% ก็คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตของหลายอุตสาหกรรมซึ่งใช้กำลังการผลิตจนเกือบเต็มกำลังแล้ว (โดยเฉพาะอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ และยานยนต์) และจะเป็นอุปสรรคที่ทำให้ความหวังที่จะเห็นภาคการลงทุนเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจทดแทนภาคการส่งออกที่มีแนวโน้มขยายตัวไม่ดีนักในปี 2551 เป็นไปได้ยากยิ่งขึ้น

.

ดังนั้น การยกเลิกมาตรการ 30% โดยเร็วเป็นสิ่งที่ต้องเร่งดำเนินการ เพื่อให้ภาคการลงทุนดำเนินต่อไปได้โดยไม่สะดุด อันจะส่งผลดีต่อเนื่องมายังภาคการบริโภค ซึ่งทั้ง 2 ส่วนมีสัดส่วนถึง 77% ของ GDP นอกจากนี้ การลงทุนที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยี โดยอาศัยจังหวะเวลาที่เงินบาทแข็งค่าอยู่ในขณะนี้ ยังเป็นการช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการแข่งขันของสินค้าส่งออกของประเทศอีกทางหนึ่ง เพื่อยกระดับมาตรฐานสินค้าไทยสู่ตลาดระดับบน ก็จะย้อนมาถึงภาคการส่งออกที่จะขยายตัวได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว

.
ลดดอกเบี้ย...เร่งใช้ดอลลาร์ : ตัวช่วยยกเลิกมาตรการ 30%

การปลดล็อคมาตรการ 30% อย่างมีประสิทธิภาพควรต้องมีมาตรการอื่น ๆ เข้ามาช่วยเสริม เพื่อบรรเทาผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นกับระบบเศรษฐกิจและระบบการเงินไทย ที่สำคัญ ได้แก่  

.

- การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง เพื่อลดแรงจูงใจของเงินทุนจากต่างประเทศที่จะไหลเข้ามาเก็งกำไรจากอัตราดอกเบี้ยและค่าเงินบาท ขณะเดียวกันยังช่วยลดแรงฝืดที่เกิดขึ้นจากภาค Real Sector ที่ทำงานได้ไม่เต็มที่ ตลอดจนช่วยสกัดกั้นการสูงขึ้นของต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการ ซึ่งจะช่วยบรรเทาปัญหาเงินเฟ้อที่เกิดจากด้านต้นทุนได้ระดับหนึ่ง

 .

- การเร่งใช้เงินดอลลาร์สหรัฐ เพื่อสร้างสมดุลของเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ ซึ่งจะช่วยบรรเทาปัญหาเงินบาทแข็งค่า ทั้งนี้ เป็นที่คาดว่า หากมีการยกเลิกมาตรการ 30% เงินบาทในประเทศมีแนวโน้มที่จะแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว จากการเคลื่อนย้ายเงินทุนต่างประเทศมายังประเทศไทย ท่ามกลางเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มถดถอย และเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง ขณะที่ตลาดเอเชีย รวมถึงไทยยังมีเสน่ห์ในการดึงดูดเงินลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งจะยิ่งซ้ำเติมให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น ดังนั้น ทางการอาจต้องเร่งให้มีการใช้เงินดอลลาร์สหรัฐผ่านมาตรการต่อไปนี้

- เร่งลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ของรัฐ เพื่อให้เกิดการนำเข้าสินค้าและบริการจากต่างประเทศ

- สนับสนุนให้นักลงทุนไทยออกไปลงทุนในต่างประเทศอย่างจริงจัง

 .

นอกจากนี้ ทางการอาจพิจารณาการใช้มาตรการ Exit Tax เข้ามาช่วยเสริม ทั้งนี้ มาตรการ 30% นับเป็นมาตรการสกัดกั้นการนำเข้าเงินทุน หรือ Capital Control ที่รุนแรงจนบั่นทอนความเชื่อมั่นของนักลงทุน อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการยกเลิกมาตรการ 30% ท่ามกลางเงินทุนไหลเข้าที่ยังคงผันผวนอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะเงินทุนระยะสั้นที่เข้ามาเก็งกำไรในประเทศ ดังนั้น ทางการอาจใช้มาตรการเก็บภาษีจากกำไรและดอกเบี้ยของผู้ที่จะนำเงินออกจากประเทศ (Exit Tax) แทนที่จะสกัดกั้นเงินทุนตอนนำเงินเข้ามา โดยเน้นไปที่เงินทุนระยะสั้น ขณะที่เงินทุนระยะยาวควรได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสีย Exit Tax

 .

การปลดล็อคมาตรการ 30% จะมีส่วนช่วยสนับสนุนการขยายตัวของภาค Real Sector เพื่อก่อให้เกิดการลงทุน ซึ่งจะเป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยปี 2551 แทนที่ภาคการส่งออกที่ส่อเค้าไม่สดใสเหมือนที่ผ่านมา เนื่องจาก

 .

- ความเชื่อมั่นและบรรยากาศการลงทุนจะกลับมาอีกครั้ง แม้ว่าที่ผ่านมา ทางการได้ผ่อนคลายมาตรการ 30% ลงอย่างต่อเนื่อง แต่ประเทศไทยก็ถูกขนานนามว่าเป็นประเทศที่มี Capital Control และมีความไม่แน่นอนสูงในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจ ซึ่งถือเป็นประเด็นอ่อนไหวและเปราะบางสำหรับนักลงทุนต่างชาติ จนบั่นทอนความเชื่อมั่นและบรรยากาศการลงทุนโดยตรง การยกเลิกมาตรการ 30% น่าจะมีส่วนช่วยขจัดภาพลบดังกล่าวของไทยลงได้ ซึ่งแน่นอนว่า ย่อมเป็นผลดีต่อการลงทุน โดยเฉพาะในช่วงที่โครงการลงทุนต่าง ๆ ของรัฐบาลชุดใหม่จะเริ่มทยอยออกมา

 .

- ช่วยเพิ่มช่องทางและลดต้นทุนในการระดมทุนของผู้ประกอบการ มาตรการ 30% เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาตลาดเงิน ซึ่งเป็นแหล่งระดมทุนที่สำคัญของภาคเอกชน และทำให้ต้นทุนทางการเงินของภาคเอกชนสูงกว่าที่ควรจะเป็น ขณะที่ความคล่องตัวในการหาแหล่งเงินทุนก็ลดน้อยตามไปด้วย ซึ่งบั่นทอนความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยในระยะยาว

 .

โดย เฉพาะกับประเทศคู่แข่งอื่น ๆ ในภูมิภาคที่ไม่มีมาตรการ Capital Control ดังนั้น หากมาตรการ 30% ถูกยกเลิก ผู้ประกอบการที่ชะลอการลงทุนในช่วงก่อนหน้า อันเป็นผลจากข้อจำกัดของมาตรการดังกล่าว ก็มีแนวโน้มที่จะกลับเข้ามาลงทุนอีกครั้ง ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการลงทุนของไทย โดยเฉพาะการลงทุนภาคเอกชนให้กลับมาคึกคักขึ้น หลังจากซบ เซาลงมากในปี 2550