ระบบทดสอบความสั่นสะเทือนของผลิตภัณฑ์
ปัจจุบันประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิต ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ บรรจุภัณฑ์ และอื่นๆ สิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมการผลิตก็คือ การรับรองคุณภาพของชิ้นส่วนและผลิตภัณฑ์ที่ได้ผลิตขึ้น
การทดสอบความต้านทานต่อความสั่นสะเทือน (Vibration Testing) เป็นหัวข้อการทดสอบที่สำคัญ และมาตรฐานการทดสอบผลิตภัณฑ์ต่อการสั่น เป็นหนึ่งในหลายมาตรฐานที่สำคัญ ของการทดสอบและพัฒนาผลิตภัณฑ์รวมทั้งใช้ทดสอบเพื่อยืนยันความทนทาน และยังสามารถทำนายอายุการใช้งานของผลิตภัณฑ์เหล่านั้นได้
ส่วนประกอบของระบบทดสอบความสั่นสะเทือน
ระบบทดสอบความสั่นสะเทือน ประกอบด้วย ส่วนสำคัญ 3 ส่วนคือ ตัวสร้างความสั่น (Shaker) ตัวควบคุมการสั่น (Controller) หัววัดความสั่น (Accelerometer) รวมทั้งส่วนประกอบอื่นที่เป็นองค์ประกอบเสริม ได้แก่ โต๊ะทดสอบแนวตั้ง (Vertical Head expander) โต๊ะทดสอบแนวนอน (Horizontal Slip Table)
ตัวสร้างความสั่น (Shaker) ใช้สำหรับสร้างความสั่นสะเทือนให้กับผลิตภัณฑ์ที่จะทำการทดสอบ เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ ทีวี ตู้เย็น เครื่องซักผ้า เครื่องเสียง ชิ้นส่วนยานยนต์ ได้แก่ หม้อน้ำ เบาะ วิทยุ ระบบอิเล็กทรอนิกส์ ระบบส่องสว่าง ระบบทำความเย็น และอื่นๆ
ชุดควบคุมการสั่น (Controller) ใช้สำหรับสร้างและควบคุมความสั่นสะเทือนให้กับระบบทดสอบ สามารถสร้างรูปแบบการสั่นได้หลายแบบ เช่น Sine, Random, Shock, Sine-on-Random, Random on Random
หัววัดความสั่น (Accelerometer) ใช้สำหรับวัดและควบคุมความสั่นสะเทือนให้กับ ระบบควบคุม มีหลายแบบให้เลือกตามความเหมาะสม
โต๊ะทดสอบแนวตั้ง (Vertical Head expander) ใช้สำหรับวางตัวอย่างที่มีขนาดใหญ่มากกว่าแกนของตัวสร้างความสั่นสะเทือน เมื่อต้องทำการทดสอบการสั่นในแนวตั้ง ทำจากวัสดุที่มีน้ำหนักเบา และตอบสนองต่อความถี่ที่ทำการทดสอบได้ดี
โต๊ะทดสอบแนวนอน (Horizontal Slip Table) ใช้สำหรับวางตัวอย่างที่มีขนาดใหญ่ สำหรับสร้างความสั่นสะเทือนในแนวนอน หรือ ทั้งแนวตั้งและแนวนอนทำจากวัสดุที่มีน้ำหนักเบา และตอบ สนอง ต่อความถี่ที่ทำการทดสอบได้ดี
ที่ใดต้องการระบบทดสอบความสั่นสะเทือน
จากที่ได้กล่าวมาแล้วว่า ระบบทดสอบความสั่นสะเทือน มีความสำคัญกับอุตสาหกรรมการผลิต ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ บรรจุภัณฑ์ ซึ่งส่วนที่เกี่ยวข้องโดยตรงก็คือ แผนกตรวจสอบคุณภาพ ซึ่งต้องคอยตรวจสอบคุณภาพของสินค้าให้มีคุณภาพตามที่ได้ออกแบบไว้โดย
แผนกออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ ที่ทำหน้าที่พัฒนาและออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ซึ่งต้องคำนึงถึงคุณภาพ และความทนทาน ตรวจสอบผลิตภัณฑ์ต้นแบบ หรือตรวจสอบการทำงานของผลิตภัณฑ์เมื่อต้องเผชิญกับการสั่น ตรวจสอบอายุการใช้งานของผลิตภัณฑ์ต้นแบบ และอื่นๆ
การที่ประเทศไทย จะก้าวไปเป็นผู้นำด้านการผลิต จำเป็นต้องมีการพัฒนาขีดความสามารถในการทดสอบมาตรฐานสินค้า ซึ่งสามารถลดเวลาและค่าใช้จ่ายในการส่งผลิตภัณฑ์ไปทดสอบนอกสถานที่ รวมทั้งสามารถพัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพตามข้อกำหนดในมาตรฐาน เพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน ได้อย่างรวดเร็ว เป็นต้น