คุณสติยา ลังการ์พินธุ์ ผู้อำนวยการฝ่ายองค์กรสัมพันธ์ คุณสนธิญา หนูจีนเส้ง กรรมการผู้จัดการ บริษัท อินเทล ไมโครอิเล็กทรอนิกส์(ประเทศไทย)จำกัด
เรื่องและภาพ : ศิริสาร เขตปิยรัตน์
ผ่านมุมมองบริษัทนวัตกรรมยักษ์ใหญ่ ที่พร้อมส่งเสริมและผลักดันการสร้างนวัตกรรมที่ก้าวหน้าและทันสมัย กับการวางความพร้อมของบุคลากรอันเป็นส่วนสำคัญของการขับเคลื่อนเทคโนโลยีในอนาคต |
เบื้องหลังความสำเร็จของเหล่าเทคโนโลยีอันล้ำหน้า เครื่องมือที่ทรงพลังในการสรรค์สร้างผลงานของเหล่าเมกเกอร์และจุดกำเนิด Start Up เพื่อก้าวไปสู่ธุรกิจที่ยิ่งใหญ่ต่อไป รวมฟังแนวคิดการสร้างคนของบริษัทชั้นนำอย่างอินเทลกัน
Q: มุมมองและนิยามความเป็นเมกเกอร์กับสตาร์ทอัพของอินเทลเป็นอย่างไร
A: คุณสนธิญา หนูจีนเส้ง โดยพื้นฐานของอินเทลเอง เราพยายามสร้างนวัตกรรมเพื่อช่วยให้พื้นฐานการดำรงชีวิตของคนให้ดีขึ้น ทีนี่การสร้างนวัตกรรมนั้นอินเทลแต่เพียงผู้เดียวนั้นคงไม่พอ เพราะเราเองก็เป็นแค่เพียงหนึ่งบริษัทที่อยู่บนโลกนี้ ดังนั้นเราเองก็คิดว่าจะทำอย่างไรให้คนที่มีศักยภาพสามารถสร้างนวัตกรรมได้ด้วย อินเทลเองก็มีความถนัดด้านอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ เพราะฉะนั้นอินเทลจึงมองการสนับสนุนให้บรรดาเมกเกอร์สามารถสร้างผลงานให้ได้ด้วยตนเอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับ ซอฟต์แวร์โปรแกรมมิ่งคอนโทรลหรือ แอพพลิเคชันสำหรับอุปกรณ์บนมือถือ หรือแม้แต่การสร้างฮาร์ดแวร์เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตเพื่อสั่งงาน ที่รู้จักกันแบบ IOT (Internet Of Things) เรามีความคิดว่าเหล่าเมกเกอร์นี่ล่ะที่จะมาช่วยสร้างนวัตกรรมที่ล้ำสมัยอันจะเป็นส่วนช่วยให้วิถีชีวิตของคนทั่วไปดีขึ้น มีสิ่งอำนวยความสะดวกมากขึ้น
ซึ่งเราเองหากย้อนกลับไปมองเมื่อหลายปีก่อน ระบบการทำงานบางอย่างยังไม่ได้มีการควบคุมแบบอัตโนมัติเลย แต่ ณ วันนี้หลายสิ่งหลายอย่างสามารถทำงานและตัดสินใจได้ด้วยต้นเอง ระบบอัตโนมัติต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ไฟจราจร ระบบขนส่งทางราง ระบบแจ้งเตือนอื่นๆ ล้วนประมวลผลและใช้งานผ่านเครื่องมือเหล่านี้ ในมุมของอินเทลเองเราจะสนับสนุนในเรื่องของความรู้ที่จะช่วยสร้างให้เมกเกอร์ได้เรียนรู้ได้กว้างมากขึ้น จะประกอบไปด้วยอะไรบ้าง มีอุปกรณ์ที่ช่วยให้เขาได้คิดค้นได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น สร้างสื่อในการช่วยเหลือไม่ได้ให้เขาเริ่มจากศูนย์ใหม่ทั้งหมด อย่างเช่น เราสร้างบอร์ดที่มีอุปกรณ์อำนวยความสะดวกให้ทั้งหมด เมกเกอร์ก็เพียงแต่ใช้จินตนาการสรรค์สร้างสิ่งที่ตัวเองคิดฝันไปได้เลย ว่าต้องใช้อุปกรณ์เซนเซอร์ตัวไหน อย่างไร อินพุตเอาท์พุต หรือสัญญาณที่ต้องการเป็นอย่างไร และสิ่งประดิษฐ์นั้นสามารถประยุกต์ใช้กับชีวิตได้อย่างไร อย่างนี้เป็นต้น ดังนั้นอินเทลเองจึงพยายามสร้างเพลตฟอร์ม หรือให้ความรู้ในแบบเวอร์ชวลอำนวยความสะดวกเรื่องการออกแบบตัวโปรแกรมแบบไหน ให้ง่ายสำหรับนักพัฒนาเพื่อเป็นส่วนช่วยลดเวลาในการออกแบบลงไปได้
Q: ส่วนส่งเสริมด้านการศึกษาเป็นอย่างไรบ้าง
A: คุณสติยา ลังการ์พินธุ์: เพิ่มเติมสำหรับส่วนการส่งเสริมการศึกษาหรือ CSR ขององค์กรว่า หากเรามองปลายทางเป็นการสร้างนวัตกรรมแล้ว เราจะทำยังไงให้คนไทยสามารถที่จะคิดเอาเทคโนโลยีเหล่านี้ไปประยุกต์ใช้ให้เกิดการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ วิธีการมันมีหลายวิธีการ เช่น เอาไปสอนในโรงเรียนก็ได้ และสอนให้มันมีความสนุก ทำอย่างไรให้มันเหมือนเป็นการประดิษฐ์คิดค้น ที่สำคัญต้องสร้างให้เด็กมีความอยากที่จะทำโดยไม่ต้องมีครูมาค่อยบอกว่าต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้ แต่เมกเกอร์เองต้องมีจิตวิญญาณของเมกเกอร์ นั้นคือมีความสนุกหลงไหลในสิ่งที่จะสร้าง และทำเพราะว่าอยากจะทำสิ่งประดิษฐ์ชิ้นนั้นๆ ให้ได้ สำหรับการจัดงานนิทรรศการแสดงผลงานนั้นก็เหมือนกับเป็นงานปล่อยของ เสมือนว่าเด็กๆ ได้มาปล่อยของดี ของดีที่ตัวเองได้สร้างสรรค์ด้วยตัวเอง มานำเสนอสิ่งประดิษฐ์ที่สร้างด้วยตัวเองมาโชว์ต่อสายตาเพื่อนๆ แต่ไม่ได้หมายความว่ารูปแบบการเรียนการสอนในภาคปกติจะไม่ต้องเรียนแล้วในเรื่องเทคโนโลยี เพียงแต่ด้วยตัว Maker culture หรือวัฒนธรรมนักประดิษฐ์นั้น นอกห้องเรียนต้องมีความสนุกสนาน ทำเท่าไหร่ก็ไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยเพราะว่า ชอบสร้างชอบทำ และได้มาแลกเปลี่ยนกับคนอื่นๆ ในแวดวงเดียวกัน
เราอยากให้เด็กๆ เปลี่ยนมุมมองจากการเก็บเงินเพื่อมาซื้อเทคโนโลยีใหม่ๆ มาโชว์กัน เปลี่ยนมาเป็นการสร้างสรรค์โดยเอาเทคโนโลยีใหม่ๆเหล่านั้นน่ะ มาสร้างวิธีการประยุกต์หรือสร้างนวัตกรรมแปลกใหม่มาแลกเปลี่ยนกันแทน
A: คุณสนธิญา หนูจีนเส้ง: อินเทลเองมองว่าเรื่องการศึกษาเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งการศึกษาก็แบ่งเป็นระดับขั้นๆ ไป ตั้งแต่ระดับพื้นฐานอย่างประถมศึกษา ระดับกลางอย่างมัธยมศึกษา ไปถึงระดับอุดมศึกษา จนเมื่อจบการศึกษาไปแล้วหรือการศึกษานอกรั้วมหาวิทยาลัย อินเทลก็มีการส่งเสริมทุกช่วงการศึกษาเพียงแต่การสื่อสารให้รับรู้จากสื่อภายนอกอาจจะไม่พร้อมเพรียงกัน ที่ผ่านเราเองก็ได้ร่วมกับกระทรวงศึกษาฯ ทำข้อตกลงร่วมกัน (MOU) ในการทำ Intel Teach เพื่อเข้าไปสอนครูตั้งแต่ชั้นประถม จนถึงมัธยมศึกษา ในการเอาเทคโนโลยีเข้าไปช่วยในเรื่องการสอนเราก็ทำมาตั้งแต่ปี 2003 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งเน้นการสอนครูเป็นหลัก ฝั่งอุดมศึกษาเราเองก็เข้าไปจัดกิจกรรมในโครงการ Innovation space เปิดโอกาสให้นักเรียนนำเทคโนโลยีมาใช้เป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหา ซึ่งจะทำให้สามารถเข้าถึงวิธีการแก้ไขปัญหาได้เร็วขึ้น และยังเป็นการส่งเสริมการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้สร้างนวัตกรรมได้ด้วยตนเอง นอกจากนี้เรายังมีตัวอย่างการใช้โปรแกรมสำหรับการอ่านหนังสือออนไลน์ช่วยให้ครูและนักเรียนสามารถทราบได้ว่าอ่านถึงหน้าไหน อ่านไปกี่เล่มแล้วบ้างอย่างนี้เป็นต้น
นอกเหนือจากนี้เรายังมีการส่งเสริมกิจกรรมนอกเวลาเรียนในรูปแบบอื่นๆ อยู่อย่างสม่ำเสมอ เพราะเรามองว่าคนที่หลุดออกจากระบบการศึกษาไปแล้ว และไม่มีความรู้เรื่องเทคโนโลยีเหล่านี้ดีพอ เราจึงเพิ่มโครงการอย่าง Intel Easy Steps สอนผู้ใหญ่ในเรื่องของการใช้คอมพิวเตอร์ตั้งแต่การเริ่มเปิดเครื่องจนสามารถใช้โปรแกรมอื่นๆ ได้ และใช้ประโยชน์จากคอมพิวเตอร์ อาทิ เช่น จะทำนามบัตรอย่างไร บัญชีครัวเรือนทำอย่างไร ใช้ Facebook เพื่อติดต่อกับเพื่อนอย่างไร ใช้อีเมล์ติดต่อกับลูกๆ อย่างไร ที่เป็นหลักสูตรของเราอย่างนี้เป็นต้น ซึ่งเราก็สอนผ่านสื่อ ICT ชุมชนผ่านความร่วมมือกับกระทรวงไอซีที ของกสทช. ตรงนี้เราก็ยังคงดำเนินการอยู่ ด้วยครูที่เราเทรนเนอร์ส่งไปให้และอีกหนึ่งโครงการที่เราเริ่มไปเมื่อกลางปีที่ผ่านมาก็คือ หลักสูตร Intel Entrepreneurship Basics ให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีรายใหม่ หรือรายเล็กรายน้อย เพื่อส่งเสริมให้เขารู้จักการวางแผนธุรกิจ การออกแบบสินค้า การวิเคราะห์ตลาด รวมถึงการวางแผนการเงิน วางแผนที่จะขยายธุรกิจหรือใช้เทคโนโลยีในการช่วยสร้าง Productivity เพื่อเสริมสมรรถนะของการผลิตสินค้าของตัวเอง ซึ่งหลักสูตรนี้เราก็จบเฟสดังกล่าวไปเมื่อปลายปีที่แล้ว และก็เห็นว่าหลักสูตรดังกล่าวก็สามารถปรับประยุกต์ใช้กับบรรดา Start Up ที่กำลังมองหาพี่เลี้ยงหรือเพื่อคู่คิดให้คำแนะนำในการดำเนินธุรกิจ เราก็มองว่าปีนี้เราอาจจะดำเนินโครงการนี้ต่อไป
A: คุณสติยา ลังการ์พินธุ์: อินเทลมุ่งเน้นวิธีการสอนหรือการเสริมให้เกิดความคิดที่นอกเหนือวิธีการเดิมๆ หรือสร้างคนไม่ให้ลอกเลียนแบบกันหรือสร้างของแบบตามๆ กันไป อย่างเช่น ค่ายที่เราเปิดอบรมเราจะไม่สอนให้เด็กสร้างหุ่นยนต์เดินตามเส้นเหมือนๆ กัน แต่เราจะกระตุ้นให้เขาลองสร้างสรรค์ด้วยวิธีการที่แตกต่างจากเดิม ทั้งที่ได้ผลลัพธ์เหมือนกัน เราได้วิธีการเหล่านี้มาจากตัวอย่างค่ายของท่านอาจารย์ ยืน ภู่วรวรรณ ที่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ด้วยเพลตฟอร์มกาลิเลโอ โดยให้น้องๆ สร้างนวัตกรรมใหม่ๆขึ้นมา โดยเพลตฟอร์มดังกล่าวนี้สามารถแต่งเติมเสริมความสามารถให้ใช้ประโยชน์ได้อย่างครอบคลุมไม่ว่าจะเป็น แขนกล, อุปกรณ์เชื่อมโยงแบบ IOT, เชื่อมต่อโทรศัพท์เคลื่อนที่สั่งงานควบคุมอุปกรณ์ภายในบ้าน เป็นต้น
ด้วยหลักสูตรการใช้งานด้วยเพลตฟอร์มนี้เราก็ได้ทดลองการสอนผ่านความร่วมมือกับอาจารย์ในมหาวิทยาลัยในสิงคโปร์อีกด้วย คือ กำหนดให้ภายใน 2 วันนี้ เราจะสร้างโปรเจคอะไรได้บ้าง ด้วยเพลตฟอร์มอินเทลกาลิเลโอ เราสามารถสร้าง IOT โปรเจค ควบคุมอุปกรณ์ด้วยโทรศัพท์มือถือ หรืออ่านค่าจากตัวตรวจวัดเซนเซอร์ต่างๆ ผ่านตัวกาลิเลโอมาที่โทรศัพท์ได้หรือไม่ ตัวอย่างดังกล่าวเหล่านี้นำไปสอนให้นักศึกษาในสิงคโปร์ทดลองใช้งานและสร้างนวัตกรรม ผ่านหลักสูตรที่ว่าดังกล่าวนี้
เราไม่ได้เอาโจทย์หรือตัวเทคโนโลยีเป็นตัวตั้งเพียงอย่างเดียว แต่เราต้องการให้คนสามารถมองหาจุดที่ต้องการแก้ไขปัญหาและใช้เทคโนโลยีไปตอบโจทย์หรือแก้ไขปัญหานั้นๆ ได้ ดังนั้นการเรียนรู้เทคโนโลยีแบบสร้างสรรค์นั้นเป็นสิทธิของเด็กทุกคน ไม่ใช่เฉพาะกับเด็กบางส่วนที่เราส่งเสริมตามโรงเรียนหรือที่เข้าค่ายกับเราเท่านั้น เราคิดว่าการที่เราจะก้าวไปพร้อมกันทั้งชาติเพื่อเป็น Innovative country เราต้องมีคนที่คิดในเชิงสร้างสรรค์มากที่สุด ถือว่าเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่เด็กทุกคนควรจะได้เรียนรู้ เราจึงร่วมกับมูลนิธิของสมเด็จพระเทพฯ ที่ทำงานกับเด็กที่ห่างไกล ขาดโอกาสให้สามารถเรียนรู้เรื่องราวเทคโนโลยีเหล่านี้ได้ เช่นเดียวกัน
Q: ท้ายสุดนี้เราคาดหวังต่อการผลักดันนักสร้างนวัตกรรมให้เกิดขึ้นในสังคมอย่างไร
A: คุณสนธิญา หนูจีนเส้ง: การสร้างขีดความสามารถสำหรับการพัฒนานวัตกรรมไอทีให้กับนักเรียนและนักศึกษาไทย โดยอาศัยเครือข่ายผ่านทางมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วประเทศ ให้เป็นศูนย์กลางความคิดและส่งเสริมทักษะการคิด ประดิษฐ์ ทำสิ่งต่างๆด้วยเทคโนโลยี ผ่านวัฒนธรรมเมกเกอร์ (Maker culture)นั้น เราก็คาดหวังว่าโครงการทั้งหมดนี้จะสามารถผลักดันให้คนไทยเป็นผู้สร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ สู่ตลาดโลก ได้มากขึ้น มิใช่เป็นแต่เพียงผู้ใช้เทคโนโลยีเท่านั้น
A: คุณสติยา ลังการ์พินธุ์ :อินเทลได้ดำเนินโครงการทั้งหมดนี้ก็เพื่อเป็นแรงหนึ่งในการสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทยสู่ “สังคมแห่งปัญญา” (SmartSociety) ผ่านกิจกรรมโครงการที่จัดขึ้นโดยหลายหน่วยงานทั้งระดับโรงเรียนและระดับอุดมศึกษา เพื่อเปิดพื้นที่ เปิดโอกาสให้นักเรียน หรือแม้กระทั่งครูอาจารย์ได้ลองเรียนรู้ด้วยวิธีการใหม่ๆ ได้ลองออกแบบและประดิษฐ์อุปกรณ์อัจฉริยะ (smart device) ที่ประยุกต์ใช้หน่วยประมวลผลคอมพิวเตอร์ผ่านอินเทลกาลิเลโอ (Intel Galileo) ซึ่งช่วยให้นักเรียนมีทักษะพื้นฐานในการทำให้อุปกรณ์ต่างๆ เชื่อมโยงสู่ระบบอินเทอร์เน็ต เพื่อบันทึก วิเคราะห์และใช้ประโยชน์จากข้อมูลได้อย่างง่ายดาย ทักษะพื้นฐานเหล่านี้จะมีคุณค่ามากในวันข้างหน้า
เมื่อโลกมุ่งเข้าสู่ยุคของอินเตอร์เน็ต ออฟ ธิงส์ (Internet of Things : IoT) ซึ่งต่อไปอุปกรณ์อัจฉริยะจะเชื่อมโยงกันเป็นระบบอัจฉริยะต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นระบบเมืองอัจฉริยะ (Smart City), ระบบขนส่งอัจฉริยะ (Smart Transportation) จึงเป็นโอกาส ที่เยาวชนไทยจะได้ลงมือประดิษฐ์คิดค้นด้วยเทคโนโลยี เราอยากสร้างให้เค้ามีทักษะด้านนวัตกรรม และมีแรงบันดาลใจในการใช้เทคโนโลยีไปทำสิ่งที่มีประโยชน์ และในขณะเดียวกันก็ได้เล่นสนุก ได้เรียนรู้อย่างมีความสุขด้วย
สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.
ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด