ในการทำงานบนที่สูงนั้น มีโอกาสที่จะเกิดอุบัติเหตุพลัดตกลงมาได้ตลอดเวลา อย่างที่เห็นเป็นหลักฐานยืนยัน จากสถิติการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยอันเนื่องมาจากการทำงาน ในรอบปี 2549
การใช้บันไดสำหรับการทำงานบนที่สูงอย่างปลอดภัย
ศิริพร วันฟั่น
ในการทำงานบนที่สูงนั้น มีโอกาสที่จะเกิดอุบัติเหตุพลัดตกลงมาได้ตลอดเวลา อย่างที่เห็นเป็นหลักฐานยืนยัน จากสถิติการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยอันเนื่องมาจากการทำงาน ในรอบปี 2549 ที่ผ่านมา ตามรายงานของสำนักงานกองทุนเงินทดแทน สำนักงานประกันสังคม ซึ่งได้แสดงให้เห็นว่า ในทุก ๆ 808 ราย ของผู้เสียชีวิตจากการทำงานในทุกกรณี มีถึง 112 รายที่เสียชีวิตเพราะการพลัดตกจากที่สูง ซึ่งถือเป็นอันดับสอง รองลงมาจากอุบัติเหตุจากยานพาหนะ
การทำงานบนที่สูงนั้น นอกจากนั่งร้านแล้ว ‘บันได’ ก็เป็นอุปกรณ์ชนิดหนึ่งที่นิยมใช้กันโดยทั่วไป เมื่อถึงเวลาที่จำเป็นต้องปีนขึ้นไปทำงานบนที่สูง เนื่องจากใช้งานง่าย เคลื่อนย้ายสะดวก ไม่ว่าจะเป็นงานซ่อม-สร้างในที่สูง การเก็บ-ขนย้ายวัสดุบนชั้นวางของ การทาสีผนัง-เพดาน หรือแม้แต่การเปลี่ยนหลอดไฟ ทำความสะอาดรางน้ำฝน เป็นต้น ซึ่งดู ๆ ไปแล้ว ก็ไม่น่าจะมีอันตรายอะไร
แต่ก็นั่นแหละ อุบัติเหตุมักเกิดขึ้นได้อย่างไม่คาดคิดเสมอ โดยพบว่ามีคนงานจำนวนมากประสบอันตรายเนื่องจากการพลัดตกจากบันได ทำให้ได้รับบาดเจ็บ ตั้งแต่ฟกช้ำดำเขียว แข้งขาหัก ไปจนถึงขั้นพิการและเสียชีวิตกันเลยทีเดียว ซึ่งสาเหตุหลักก็มักเป็นเพราะผู้ใช้งานขาดความเข้าใจและไม่ตระหนักถึงอันตราย มีการเลือกใช้บันไดผิดประเภท หรือไม่เหมาะกับงานที่ทำ หรือไม่ก็เกิดจากความประมาท ส่วนสาเหตุรองลงมาก็คือ ความบกพร่องของอุปกรณ์ คือ ตัวบันไดเอง ดังนั้นเราจึงควรจะมาดูกันสักนิดว่าทำอย่างไร จึงจะใช้บันไดได้อย่างปลอดภัย เพราะอย่างน้อย ๆ ตัวเราเองก็อาจจำเป็นต้องปีนบันไดขึ้นไปเปลี่ยนหลอดไฟ หรือหยิบของบนหลังตู้กันบ้าง ไม่วันใดก็วันหนึ่ง
ซึ่งแนวทางพิจารณาความปลอดภัยในการใช้บันไดเพื่อทำงานบนที่สูง มีดังนี้ คือ
พิจารณาจากลักษณะงานและความจำเป็น มีการแจกแจงหรือพิจารณาว่า งานประเภทใดบ้างที่ทำอยู่หรือ กำลังจะทำของสถานประกอบการ ซึ่งเป็นงานที่ต้องทำบนที่สูง และมีความจำเป็นจะต้องใช้บันได รวมถึงพิจารณาด้วยว่าสามารถที่จะหาอุปกรณ์อื่น ๆ ที่มีความปลอดภัยมากกว่า มาใช้แทนบันไดได้หรือไม่ โดยทั่วไปแล้ว หลักการก็คือ พยายามหลีกเลี่ยงการทำงานบนที่สูงให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ก่อนเป็นอันดับแรก ถ้าไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ก็ต้องมีการประเมินอันตรายและหามาตรการป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้น ถ้ายังทำไม่ได้หรือไม่มีทางเลือก ท้ายที่สุดแล้วก็ต้องพยายามลดผลลัพธ์ของความรุนแรงของเหตุการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นต่อไป
เลือกประเภทบันไดให้เหมาะสมกับงาน สำหรับบันไดพาด (Leaning Ladders) ชนิดที่ใช้ส่วนปลายด้านหนึ่งของบันไดพาดกับผนังหรือที่รองรับด้านบน โดยมากมักเป็นขั้นบันไดในลักษณะกลม มีทั้งที่ทำจากโลหะ ไม้ หรืออะลูมิเนียม สามารถแบ่งตามลักษณะการใช้งานได้ 3 ประเภท คือ
1. ประเภทที่ใช้ในงานอุตสาหกรรม เหมาะสำหรับงานที่ต้องรับน้ำหนักมาก สามารถรับน้ำหนักผู้ใช้งานและอุปกรณ์ เครื่องมือต่าง ๆ ที่นำขึ้นไปด้วยได้ถึง 113.4 กิโลกรัม (250 ปอนด์) ส่วนมากใช้กับงานซ่อมบำรุง งานก่อสร้าง เป็นต้น มีทั้งแบบ 2 ตอน และ 3 ตอน ถ้าเป็นแบบ 2 ตอน จะมีความยาวถึง 18.3 เมตร (60 ฟุต) ส่วนแบบ 3 ตอนนั้น จะมีความยาวถึง 22 เมตร (72 ฟุต)
2. ประเภทที่ใช้ในกิจการค้าทั่วไป เหมาะสำหรับใช้ในการทาสีและงานที่รับน้ำหนักปานกลาง โดยรับน้ำหนักผู้ใช้งานและวัสดุ อุปกรณ์ที่นำขึ้นไปด้วยได้ไม่เกิน 102 กิโลกรัม (225 ปอนด์) หากเป็นบันได 2 ตอน จะมีความยาวถึง 14.4 เมตร (48 ฟุต) แต่ถ้าเป็น 3 ตอน จะมีความยาวถึง 18.3 เมตร (60 ฟุต)
3. ประเภทที่ใช้ในครัวเรือน บันไดประเภทนี้เหมาะสำหรับงานเบา สามารถรับน้ำหนักได้ไม่เกิน 90.7 กิโลกรัม (200 ปอนด์) โดยมากมีขนาด 2 ตอน ความยาว 9.8 เมตร (32 ฟุต)
นอกจากนี้ ก็มีบันไดที่มีลักษณะโครงสร้างเป็นแบบ ตัว “A” (Stepladders: A–frame) ที่สามารถพับและกางออกมาได้ รวมถึงมีราวจับด้านบนหรืออาจจะไม่มีก็ได้ ส่วนขั้นบันไดนั้นจะมีลักษณะแบนเป็นแบบแป้นเหยียบ เวลาใช้งานก็จะกางขาบันไดออกมา และมีตัวยึดล็อคเพื่อความมั่นคง เมื่อไม่ใช้งานก็พับเก็บได้ มีทั้งที่ทำจากโลหะหรืออะลูมิเนียม
ในการเลือกใช้ประเภทของบันไดนั้น ผู้ใช้ควรคำนึงถึงขีดจำกัดของการรับน้ำหนัก ทั้งตัวผู้ใช้งานและวัสดุ สิ่งของที่นำขึ้นไปด้วย ระยะความสูงของงาน ความยาวและความแข็งแรงของบันได วัสดุที่ใช้ทำบันได ความถี่ในการใช้งาน รวมถึงคุณสมบัติเฉพาะของบันไดประเภทนั้น ๆ ให้มีความเหมาะสมและสัมพันธ์กับลักษณะทางกายภาพ หรือสภาวะและข้อจำกัดของงานที่ทำ เช่น เป็นงานที่ต้องทำใกล้สายไฟ หรือแหล่งจ่ายไฟฟ้าหรือไม่ พื้นที่งานจำกัดหรือเปล่า เป็นการใช้งานภายนอกหรือภายในอาคาร เป็นต้น
โดยศึกษาจากคู่มือหรือเอกสารของผู้ผลิตที่แนบมากับบันได (ถ้ามี) ซึ่งจะระบุไว้ให้ทราบถึงรายละเอียดต่าง ๆ ของบันไดประเภทนั้น ๆ เช่น วัสดุที่ใช้ทำ คุณสมบัติ คำเตือน ข้อจำกัดต่าง ๆ และวิธีใช้บันไดอย่างปลอดภัย เป็นต้น ทั้งนี้เพราะบันไดประเภทหนึ่ง ๆ นั้น จะไม่เหมาะกับทุก ๆ งาน รวมถึงมีข้อดีและข้อเสียที่แตกต่างกันออกไป
ตรวจสอบสภาพบันได ผู้ใช้งานควรตระหนักถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้น ถึงแม้ว่าอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่จะมาจากความผิดพลาดของผู้ใช้งาน ไม่ใช่ตัวบันไดเองก็ตาม แต่ถ้ามีอุปกรณ์หรือชิ้นส่วนใดของบันไดอยู่ในสภาพที่บกพร่อง ก็มีโอกาสที่จะเกิดอุบัติเหตุได้เช่นกัน ดังนั้นจึงควรทำการตรวจสภาพความพร้อม ความแข็งแรงของบันไดก่อนใช้งานทุกครั้ง โดยอาศัยการสังเกตทั่วไป ทั้งในส่วนของขั้นบันได ราวจับด้านบน-ด้านข้าง ขาตั้ง มีการตรวจสอบถึงสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ เช่น รอยปริแตก ร้าว โก่งงอ บุบ หรือสึกหรอ เป็นสนิมผุพัง มีปุ่มปมหรือเสี้ยนแหลมคม น็อต หมุดย้ำ
และตัวยึดล็อคต้องไม่หลวมหรือหลุด รอยเชื่อมต่อเรียบร้อย ความสมดุลของบันได มีความแข็งแรง มั่นคง สะอาด ไม่ลื่น ไม่เลอะเทอะด้วยจาระบี โคลน หรือน้ำมันหล่อลื่น จำนวนขั้นบันไดอยู่ครบ ขั้นบันไดควรป้องกันการลื่น เช่น มีการเซาะร่องเหมือนลอนลูกฟูก ส่วนยางกันลื่นที่สวมขาตั้งทุกขา ต้องไม่สึกหรอจนเป็นอันตรายและยังอยู่ในสภาพที่ดี ไม่ควรทาสีบันได เพราะจะทำให้ยากต่อการสังเกตถึงความชำรุดหรือบกพร่องได้ เป็นต้น
เมื่อตรวจพบว่าบันไดอยู่ในสภาพที่ไม่ปลอดภัย ไม่ว่าจากสาเหตุใดก็ตาม ก็ควรพิจารณาว่าสามารถซ่อมให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน หรือมีความปลอดภัยเพียงพอได้หรือไม่ กรณีที่ซ่อมได้แต่รอช่างมาซ่อม ก็ควรติดป้ายไว้ที่ตัวบันไดให้สังเกตเห็นได้อย่างชัดเจนว่า “ชำรุด ! ห้ามนำไปใช้” จนกว่าจะซ่อมแล้วเสร็จ แต่ถ้าไม่สามารถซ่อมได้ก็ควรเลิกใช้งานและทำลายบันไดนั้นเสีย เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้อื่นนำไปใช้งานอีก ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายร้ายแรงขึ้นมาได้
ตรวจสอบความพร้อมของผู้ใช้งาน นอกจากจะมีการตรวจสภาพบันไดก่อนใช้งานแล้ว ก็ยังต้องตรวจความพร้อมของตัวผู้ใช้งานเองด้วย ทั้งทางร่างกายและจิตใจ ซึ่งผู้ใช้งานควรมีสุขภาพแข็งแรง ไม่อยู่ระหว่างการใช้ยาที่อาจก่อให้เกิดอันตรายได้ เช่น ยาที่ทำให้เกิดอาการง่วง และไม่ควรดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ตลอดจนของมึนเมาต่าง ๆ รวมถึงไม่มีอาการกลัวความสูง เช่น เกิดอาการวิงเวียน หน้ามืด ใจสั่นหวิว มือสั่นหรือขาสั่นเมื่อต้องอยู่บนที่สูง เป็นต้น
นอกจากนี้ ผู้ใช้งานควรทำความเข้าใจถึงลักษณะงานที่ทำและข้อพึงระวังต่าง ๆ และศึกษาคู่มือวิธีการใช้งานบันไดอย่างปลอดภัยจากผู้ผลิตเสียก่อน รวมไปถึงต้องมีการวางแผนงานและจินตนาการขั้นตอนการทำงาน ตลอดจนอุปสรรคและวิธีแก้ไขไว้ล่วงหน้าให้พร้อม ก่อนปีนขึ้นไปทำงาน เรียกได้ว่าตรวจสอบเพื่อความมั่นใจ ทั้งในส่วนของผู้ใช้งานและสภาพของบันไดก่อนดำเนินการใด ๆ นั่นเอง
ใช้บันไดอย่างปลอดภัย เมื่อได้มีการพิจารณาแล้วสรุปว่า ไม่สามารถหลีกเลี่ยงและมีความจำเป็นที่ต้องใช้ บันไดสำหรับการทำงานบนที่สูง ก็ควรตระหนักถึงความปลอดภัยและใช้งานอย่างถูกต้อง โดยทั่วไปแล้วมีวิธีใช้บันไดพาดดังนี้ คือ
1. การเคลื่อนย้ายและการยก บันไดที่พับได้ควรพับให้สั้นที่สุด ก่อนทำการยกหรือเคลื่อนย้ายทุกครั้ง บันไดที่มีความยาวขนาด 5 เมตร หรือน้อยกว่านั้น สามารถใช้คนยกเพียงคนเดียว โดยพาดบันไดกับไหล่ตามแนวนอน และปรับให้ปลายด้านหน้าเอียงให้สูงจากพื้นประมาณ 2 เมตร ส่วนแขนอีกข้างหนึ่งต้องคอยพยุงและควบคุมทิศทาง และช่วยปรับบันไดให้มีความสมดุล หากต้องทำการเคลื่อนย้ายบันไดที่ยาวเกินกว่า 5 เมตร ต้องใช้คนงาน 2 คน ยกปลายแต่ละด้าน คนสูงควรเดินนำหน้าและอย่าวางเครื่องมือต่าง ๆ ไว้บนบันไดที่กำลังเคลื่อนย้าย
2. การตั้งบันได ใช้ปลายขาบันไดยันไว้กับฐานด้านล่างของผนังที่ต้องการพาด ยกปลายอีกด้านหนึ่งของบันไดขึ้นเหนือศีรษะ แล้วใช้มือจับขั้นบันไดเลื่อนไปทีละขั้น ๆ เดินตรงเข้าสู่ปลายขาบันได จนกระทั่งบันไดตั้งตรงและส่วนปลายด้านบนแตะพักกับส่วนบนของผนังที่ต้องการพาด แล้วค่อย ๆ ถอยปลายขาบันไดห่างออกมาจากฐานผนังที่ยันไว้ (รูปที่ 1)
รูปที่ 1 การตั้งบันไดที่มีขนาดไม่ยาวและสามารถตั้งได้ด้วย 1 คน
ส่วนบันไดที่มีขนาดยาวหรือแบบ 2–3 ตอน ต้องใช้คน 2 คน ช่วยกันตั้งบันได โดยคนหนึ่งยืนเหยียบที่ปลายขาบันไดใกล้กับผนังที่ต้องการพาด แล้วอีกคนหนึ่งยกปลายอีกด้านหนึ่งขึ้นเดินตรงเข้าหาโดยการจับขั้นบันไดเลื่อนทีละขั้น ๆ จนบันไดตั้งตรงแล้วช่วยกันจับพยุงบันไดพาดกับผนังด้านบน แล้วค่อย ๆ ถอยปลายขาบันไดห่างออกมาจากผนัง (รูปที่ 2)
รูปที่ 2 การตั้งบันไดที่มีขนาดยาวและต้องใช้คน 2 คน
ส่วนบันไดแบบ A–frame นั้น ก็ต้องกางขาบันไดออกให้อยู่ในตำแหน่งที่ตัวล็อคขา สามารถล็อคได้อย่างปลอดภัย
3. บริเวณที่ตั้งบันได ต้องไม่มีอะไรกีดขวาง โดยพื้นผิวบริเวณฐานบันไดต้องมั่นคง ได้ระดับ ไม่ลื่นหรือเปียกแฉะ ไม่สกปรก ไม่มีเศษน้ำมัน สารหล่อลื่น ตะไคร่น้ำ เศษขยะหรือถุงพลาสติก โดยเฉพาะพื้นผิวขัดมัน หรือพื้นผิวที่เกาะตัวกันแบบหลวม ๆ เช่น ทรายหรือโคลน ควรระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะขาบันไดอาจลื่นไถลออกจากตำแหน่งและก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้ ในกรณีที่พิจารณาแล้วพบว่าพื้นผิวมีลักษณะไม่ค่อยมั่นคง อาจจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ช่วย เช่น ใช้ไม้กระดานแผ่นเรียบรองขาตั้ง เพื่อช่วยกระจายน้ำหนักและให้ความมั่นคงยิ่งขึ้น หรือใช้ไม้ตีประกับ เพื่อเป็นฐานรองรับและล็อกขาตั้งไม่ให้เคลื่อนออกจากตำแหน่ง
หรือใช้สายยึดขาบันไดไว้กับห่วงเหล็กที่ตอกตรึงผนัง (รูปที่ 3–5) และไม่ควรใช้อุปกรณ์ช่วยเสริมความสูงของบันไดที่ดูแล้วไม่ปลอดภัย เช่น อิฐบล็อก กล่องหรือถัง เพราะอาจไม่แข็งแรงและมั่นคงพอ แต่ควรเลือกใช้ขนาดความยาวของบันไดให้เหมาะสมกับความสูงของงานจะเป็นการดีกว่า
รูปที่ 3 ใช้ไม้กระดานรองขาตั้งและใช้สายยึดขาบันได
รูปที่ 4 ล็อกขาตั้งโดยใช้ไม้ตีประกับ
รูปที่ 5 ใช้สายยึดขาบันไดไว้กับห่วงเหล็กที่ตอกตรึงกับผนัง
ส่วนจุดที่รองรับการพาดของบันไดด้านบนนั้น ควรวางพาดได้แนบสนิท และควรมีที่ล็อก หรือใช้เชือกมัดราวบันไดทั้ง 2 ข้างไว้กับจุดพาดด้านบน เพื่อป้องกันการเลื่อนไถลออกจากตำแหน่ง และถ้าใช้บันไดเพื่อก้าวข้ามไปทำงานอีกจุดหนึ่งที่ด้านบนก็ควรให้ปลายบันไดมีขนาดยาวเกินกว่าจุดรองรับอย่างน้อย 1 เมตร ประมาณขั้นบันไดที่ 3 นับจากด้านบนสุดลงมา ซึ่งโดยทั่วไปแล้วระยะห่างในแต่ละขั้นบันไดจะกว้างประมาณ 1 ฟุต (30 cm.) หรือประมาณ 10” (25 cm.)–14” (36 cm.) และควรมัดราวบันไดทั้ง 2 ข้างไว้กับจุดพาดให้แน่นหนา (รูปที่ 6–7)
รูปที่ 6 ใช้เชือกมัดราวบันไดทั้ง 2 ข้างกับจุดพาดด้านบนให้แน่นหนา
รูปที่ 7 การก้าวข้ามไปทำงานอีกจุดหนึ่ง ควรให้ปลายบันไดยาวเกินกว่าจุดรองรับอย่างน้อย 1 เมตรและมัดราวบันไดทั้ง 2 ข้างให้แน่นหนา
ถ้าบริเวณที่ตั้งบันไดเป็นทางผ่าน ทางสัญจร ควรกั้นอาณาเขตและติดป้ายบอก “ห้ามชน !” หรือใช้คนยืนเฝ้าระวังให้ และถ้าพาดบันไดผ่านที่ด้านหน้าของประตู หรือหน้าต่าง ก็ต้องปิดล็อกประตู-หน้าต่างให้เรียบร้อยและติดป้ายบอกไว้ด้วยว่า “ห้ามเปิด” แต่ถ้าพาดผ่านหน้าต่างที่เปิดไว้ ก็สามารถใช้สายยึดราวบันไดทั้ง 2 ข้างไว้กับคร่าวกลางของกรอบหน้าต่างก็ได้ (รูปที่ 8) และถ้าจำเป็นต้องทำงานในอุโมงค์หรือในเนื้อที่จำกัด ควรมีเนื้อที่เหลือตามแนวขนานกับบันไดอย่างน้อย 1 เมตร
รูปที่ 8 ใช้สายยึดราวบันไดทั้ง 2 ข้างไว้กับคร่าวกลางของกรอบหน้าต่าง
4. มุมและความชันในการตั้งบันได ไม่ควรตั้งบันไดในที่ที่มีความชันเกิน 16 องศา วัดจากแนวระนาบด้านข้างของบันได และในพื้นที่ที่มีความชันเกิน 6 องศาวัดจากแนวระนาบด้านหลังของบันได (รูปที่ 9) ถ้ามีความจำเป็นต้องตั้งบันไดในที่ที่มีความชัน ก็ควรมีอุปกรณ์เสริมบริเวณข้างใต้ขาบันไดให้มีความมั่นคงและได้ระดับ
ส่วนมุมในการตั้งหรือวางพาดบันไดนั้น ควรมีระยะระหว่างฐานบันไดถึงผนังกับความยาวของบันไดนับจากฐานถึงจุดพาดมีอัตราส่วน 1:4 หรือมีมุมบันไดที่ตรงข้ามผนังประมาณ 75 องศา (รูปที่ 10)
รูปที่ 9 ตั้งบันไดในที่ที่มีความชันไม่เกิน 16 องศาวัดจากแนวระนาบด้านข้างของบันได และมีความชันไม่เกิน 6 องศาวัดจากแนวระนาบด้านหลังของบันได
รูปที่ 10 ในการตั้งบันได ควรมีระยะระหว่างฐานบันไดถึงผนังที่วางพาดบันไดกับความยาวของบันไดนับจากฐานถึงจุดพาดมีอัตราส่วน 1 : 4 หรือมีมุมบันไดที่ตรงข้ามผนังประมาณ 75 องศา
5. การปีนบันได ขณะขึ้น–ลงบันได ควรหันหน้าเข้าหาบันได และระหว่างการปีน มือควรจับอยู่ที่ขั้นบันได ถ้าเท้าซ้ายปีนขึ้น มือซ้ายก็ต้องเลื่อนขึ้นพร้อมกัน ทำนองเดียวกันถ้าหากเท้าขวาปีนขึ้น มือขวาก็ขยับจับขั้นบันไดที่สูงขึ้นพร้อมกันเช่นกัน ในขณะที่ปีนลงจนเหลือ 2–3 ขั้นสุดท้าย ก็ควรมองลงที่พื้นและด้านหลังว่ามีสิ่งกีดขวางหรือไม่ ควรปีนลงมาจนถึงขั้นสุดท้าย ไม่ควรกระโดดลงมา
เพราะอาจหกล้มหรืออาจทำให้บันไดสั่น แล้วล้มทับได้ อย่าใช้เท้าสไลด์ลงมาตามราวจับด้านข้าง อย่าเร่งรีบในการปีนขึ้น–ลงบันไดเพราะอาจก้าวพลาดได้ ควรสำรวจรองเท้าที่ใส่ ถ้าเป็นรองเท้าแบบผูกเชือก ก็มัดเชือกให้เรียบร้อยอย่าให้เชือกรองเท้าห้อยต่องแต่ง และดูที่พื้นรองเท้าด้วยว่ามีเศษอะไรติดอยู่ที่อาจทำให้ลื่นได้หรือไม่ หรือถ้าพื้นรองเท้าเปิดออก ก็อาจจะลื่นหรือสะดุดจนอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุตกลงมาจากบันไดได้ ทั้งนี้ไม่ควรสวมรองเท้าแตะหรือใช้เท้าเปล่าในการปีนบันได
นอกจากนี้ การทำงานในสภาวะอากาศร้อน จะส่งผลให้มีเหงื่อชุ่มตามฝ่ามือ จนทำให้มือลื่นได้ ดังนั้นอาจต้องสวมถุงมือกันลื่น และไม่ควรปีนขึ้น–ลงบันไดในขณะที่ฝนตก แม้ว่าจะเป็นเพียงฝนตกปรอย ๆ เพราะอาจทำให้บันไดลื่นได้เช่นกัน หรือในช่วงที่มีลมพัดแรง อาจทำให้บันไดเสียสมดุล หรือผู้ใช้งานอาจเสียการทรงตัวได้ ส่วนอุปกรณ์หรือเครื่องมือต่าง ๆ ที่จะนำขึ้นไปนั้น
ถ้ามีน้ำหนักไม่มากหรือมีขนาดไม่ใหญ่เทอะทะจนเกินไป ก็ควรมีที่ใส่ เช่น กระเป๋าสะพาย หรือกระเป๋าด้านหน้าของเสื้อ (คล้ายจิงโจ้มีถุงหน้าท้อง) ส่วนอุปกรณ์หรือเครื่องมือที่มีน้ำหนักมากหรือใหญ่เกินกำลังและเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ ก็ควรใช้วิธีชักรอกเอาจะดีกว่า ทั้งนี้ควรคำนึงถึงด้วยว่า น้ำหนักตัวผู้ใช้งานรวมกับน้ำหนักวัสดุ อุปกรณ์ เครื่องมือที่นำขึ้นไปด้วยนั้น จะต้องไม่เกินน้ำหนักสูงสุดที่ระบุไว้สำหรับบันไดประเภทนั้น ๆ
และห้ามใช้บันไดในขณะเดียวกันมากกว่า 1 คนถ้าบันไดนั้นไม่ได้ออกแบบมาพิเศษเพื่อการรับน้ำหนักเพิ่ม อย่าเคลื่อนย้ายหรือยืดความยาวบันได ในขณะที่ยังยืนอยู่บนบันได ห้ามดัดแปลงนำบันไดไปใช้งานลักษณะอื่น ที่ผิดวัตถุประสงค์ เช่น ใช้บันไดพาดเป็นทางเดินระหว่างตึก หรือใช้บันไดแบบ A–frame โดยการพับแล้วพาดกับผนังเพื่อปีนไปอีกที่หนึ่ง เป็นต้น ถ้าความยาวบันไดไม่พอก็ไม่ควรนำเอาบันไดมาต่อกัน เพราะอาจเกิดอันตรายขึ้นได้
6. การทำงานบนบันได ไม่ควรทำงานบนบันไดเป็นระยะเวลายาวนานติดกัน เกินกว่า 30 นาที เพราะอาจก่อให้เกิดอาการล้าได้ สำหรับบันไดพาดนั้นควรรักษาตำแหน่งสัมผัสบันไดให้ได้ครบ 3 จุด (3 Points of Contact) เสมอในขณะทำงาน คือ เท้า 2 ข้างเหยียบขั้นบันได และใช้มือ 1 ข้างจับขั้นบันไดไว้ ไม่ควรยืนอยู่บนขั้นบันไดสูงเกินกว่าขั้นที่ 3 นับจากบนสุดลงมา เพราะจะไม่มีที่พิงตัวและอาจเสียสมดุลหรือเสียการทรงตัวได้ (รูปที่ 11–12)
รูปที่ 11 วิธีที่ถูกต้อง คือ รักษาตำแหน่งสัมผัสบันไดให้ครบ 3 จุด ไว้เสมอเพื่อความปลอดภัย
รูปที่ 12 ไม่ได้รักษาตำแหน่งสัมผัสบันได 3 จุดไว้ อาจทำให้เสียการทรงตัวได้
นอกจากนี้ยังไม่ควรทำงานในลักษณะที่ต้องมีการเหยียดตัว หรือเหยียดแขนขามากเกินไป จนทำให้เสียการทรงตัว (รูปที่13) โดยพยายามให้ตำแหน่งหัวเข็มขัดอยู่ในขอบเขตระหว่างราวบันไดทั้งสองข้าง เพื่อป้องกันไม่ให้เสียการทรงตัว
ในบางกรณี ที่ต้องทำงานใกล้ตำแหน่งจุดปลายบนสุดของบันได หรือพบว่าจุดวางพาดด้านบนไม่แข็งแรง อาจมีความจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ค้ำยันให้ปลายบันไดถอยห่างจากผนังด้านบน ทั้งนี้เพื่อความสะดวกและมีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้นในระหว่างการทำงาน (รูปที่ 14)
รูปที่ 13 เสียการทรงตัว เนื่องจากไม่ได้รักษาตำแหน่งสัมผัสบันได 3 จุด ไว้ และเหยียดตัว แขนขามากเกินไป จนอาจเกิดอันตรายได้
รูปที่ 14 ใช้อุปกรณ์ค้ำยันให้ปลายบันไดถอยห่างจากผนังด้านบน
ส่วนการทำงานบนบันไดแบบ A–frame นั้น ก็เช่นเดียวกับบันไดพาด คือ ผู้ใช้งานต้องตั้งบันไดโดยหันหน้าเข้าหากิจกรรมหรืองานที่ทำ รวมทั้งตัวผู้ใช้งานด้วย เพื่อที่จะสามารถทรงตัวให้สมดุลได้ดีกว่าหันข้างเข้า โดยเฉพาะงานที่ต้องใช้แรงมาก เช่น การใช้สว่านเจาะผนังแข็ง เป็นต้น (รูปที่ 15–16) และไม่ควรวางอุปกรณ์ สิ่งของ เครื่องมือบนขั้นบันไดหรือแป้นเหยียบ เพราะอาจเผลอไปเหยียบแล้วเสียการทรงตัว หรืออาจร่วงหล่นใส่คนที่อยู่ข้างล่างทำให้บาดเจ็บได้
รูปที่ 15 ทั้งบันไดและผู้ใช้งานหันหน้าเข้าหางานที่ทำ เพื่อรักษาความสมดุลและการทรงตัว
รูปที่ 16 การหันข้างทำงาน ซึ่งใช้แรงมาก อาจทำให้เสียการทรงตัวได้
การทำงานบนบันไดแบบ A–frame ไม่ควรที่จะยืนเหยียบบนขั้นบันไดสูงเกินกว่าขั้นที่ 3 นับจากขั้นบนสุดลงมา เพราะอาจทำให้เสียสมดุลหรือการทรงตัวและตกจากบันไดได้ (รูปที่ 16–17)
รูปที่ 17 ไม่ควรยืนเหยียบบนขั้นบันไดสูงเกินกว่าขั้นที่ 3 นับจากขั้นบนสุด
รูปที่ 18 การยืนทำงานบนขั้นบันไดสูงสุดโดยไม่มีที่จับ ทำให้มีโอกาสเสียการทรงตัวและตกจากบันไดได้ง่าย
ส่วนการทำงานใกล้สายไฟนั้น จะต้องระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง และไม่ควรใช้บันไดที่ทำจากวัสดุที่เป็นสื่อนำไฟฟ้า ควรที่จะดูรายละเอียดในคู่มือการใช้งานของผู้ผลิต เพื่อให้ทราบคุณสมบัติของบันไดประเภทนั้น ๆ เพราะในบางครั้งบันไดที่ไม่ใช่โลหะ อาจมีการเสริมความแข็งแรงด้วยเหล็ก หรือวัสดุที่นำไฟฟ้าได้ จึงไม่ควรประมาท กรณีที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ถ้าสายไฟที่อยู่เหนือศีรษะมีกำลังไฟ 50 KV หรือน้อยกว่านั้น ควรวางบันไดให้ห่างสายไฟอย่างน้อย 10 ฟุต (3 เมตร) ถ้ากำลังไฟสูงกว่านั้น ต้องมีระยะห่างอย่างน้อย 35 ฟุต (10.5 เมตร)
พึงระลึกไว้เสมอว่า ในการทำงานบนบันไดนั้น ไม่ควรนั่งทำงานบนขั้นบันได ส่วนกรณีที่เกิดอาการหน้ามืด วิงเวียน หรือรู้สึกกลัวขึ้นมาอย่างกะทันหันในขณะที่ทำงานอยู่บนบันได ก็ควรโน้มตัว ศีรษะและพับแขนทั้ง 2 ข้างกอดขั้นบันไดไว้ ปิดตาสักครู่ และรอจนกระทั่งอาการดีขึ้นค่อยลืมตาขึ้นมา และพิจารณาว่าจะทำงานต่อไหวไหม หรือว่าควรปีนกลับลงมาข้างล่างจะดีกว่า
ความยาวบันไดพาด (Straight-single ladders) ที่เหมาะสมสำหรับระดับความสูงที่ต่างกัน
ระยะส่วนคาบเกี่ยว (Overlap) ที่เหมาะสมสำหรับบันไดพาดแบบยืดขยาย (Extension ladders) (รูปที่ 19)
รูปที่ 19 ระยะส่วนคาบเกี่ยว (Overlap) ของบันไดพาดแบบยืดขยาย (Extension Ladders)
ในการใช้งานบันไดเพื่อความปลอดภัยนั้น บันไดแบบ A–frame ควรมีความยาวไม่เกิน 20 ฟุต ส่วนบันไดพาดแบบไม่ยืดขยาย ควรมีความยาวไม่เกิน 30 ฟุต และบันไดพาดแบบยืดขยาย ควรมีความยาวไม่เกิน 60 ฟุต
การบำรุงรักษา เมื่อใช้บันไดเสร็จแล้ว ไม่ควรทิ้งไว้ข้างนอกหรือปล่อยทิ้งไว้ ให้ตากแดด ตากฝน หรืออยู่ในที่ที่มีความชื้นสูง ใกล้สารเคมี หรือสถานที่ที่มีอุณหภูมิค่อนข้างร้อน เช่น เตาเผา ท่อไอน้ำ และบริเวณที่ใกล้เครื่องจักรกลต่าง ๆ เพราะจะมีผลกระทบต่อความแข็งแรงของโครงสร้างบันได ดังนั้นควรที่จะเก็บบันไดไว้ในห้องเก็บของ หรือวางไว้บนชั้น หรือสถานที่เก็บโดยเฉพาะให้เป็นสัดเป็นส่วน ไม่เก็บปะปนกับวัสดุ อุปกรณ์อื่น ๆ ควรมีที่ยึดบันไดไว้เพื่อป้องกันการล้ม และสถานที่เก็บควรเป็นที่ที่สามารถจะนำบันไดออกไปใช้งานได้โดยสะดวก
รูปที่ 20 การเก็บบันไดโดยมีสลักยึดกับผนังแล้วนำบันไดมาแขวนไว้ ตามแนวนอน
รูปที่ 21 การเก็บบันไดโดยมีอุปกรณ์รองระหว่างบันไดกับพื้นห้อง เพื่อป้องกันการสึกกร่อนของบันได
สำหรับการบำรุงรักษาบันไดนั้น ควรมีการหล่อลื่นบานพับ ขันน็อตต่าง ๆ ให้แน่นอยู่เป็นระยะ และต้องมีการตรวจสภาพความพร้อม ก่อนที่จะนำออกไปใช้งาน และหลังการใช้งาน ก่อนที่จะเก็บ ก็ต้องมีการตรวจสอบอีกครั้งหนึ่งเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ ควรจะทำการบำรุงรักษาเป็นประจำทุก 3 เดือน 6 เดือน หรือ 1 ปี ขึ้นอยู่กับลักษณะงานว่าเกี่ยวข้องกับอันตราย
หรือสภาพแวดล้อมที่เป็นอันตรายมากน้อยเพียงไร ในการตรวจสอบก็ควรทำรายงานหรือบันทึกผลไว้ด้วย และควรมีการจัดทำประวัติการซ่อมแซม เพื่อพิจารณาถึงความปลอดภัยในการใช้งานบันไดนั้นๆ สรุปแล้วการใช้บันไดสำหรับการทำงานบนที่สูงนั้น ควรรู้ว่าเมื่อไรควรนำบันไดมาใช้ และต้องเลือกใช้ให้ถูกประเภท เข้าใจวิธีการใช้งานที่ถูกต้อง มีการวางแผนงาน รวมทั้งมีกรรมวิธีที่ดีในการทำงาน บำรุงรักษา และตระหนักถึงความปลอดภัยด้วย
แหล่งข้อมูลอ้างอิง
* Safe use of ladders and stepladders: An employers’ guide., Health and Safety Executive (HSE) 2005
* A toolbox talk on leaning ladder and stepladder safety., Health and Safety Executive (HSE) 2005
* Top tips for ladder and stepladder safety., Health and Safety Executive (HSE) 2005
* ใช้บันไดพาดอย่างปลอดภัย เอกสารความปลอดภัย สถาบันความปลอดภัยในการทำงาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน 2549
สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.
ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด