ตรวจติดตาม เรื่องดี ๆ ที่ควรทำนานแล้ว คงเคยได้ยินกันมาแล้วบ้างว่า การเป็นที่หนึ่งนั้นไม่ยาก แต่การรักษาที่หนึ่งให้นานที่สุดนั้นยากกว่า ที่เห็นด้วยไม่ใช่ตรงที่การจะเป็นที่หนึ่ง แต่ตรงที่การรักษาสิ่งที่ทำไว้แล้วให้คงที่สม่ำเสมอ นี่สิครับยากมาก สิ่งหนึ่งที่ในข้อกำหนดมาตรฐานระบบต่าง ๆ ที่ผู้เขียนเห็นว่าเป็นหัวใจและถ้ามาตรฐานเหล่านั้นไม่ได้กำหนดไว้มาตรฐานเหล่านั้นจะไม่มีประโยชน์อะไรเลยก็คือเรื่องการตรวจติดตามภายในนี่เอง
ข้อกำหนดมาตรฐาน ISO/IEC 17025:2005 (ตอนที่ 10)
บุรินทร์ ไตรชินธนโชติ
ที่ปรึกษาระบบคุณภาพและสอบเทียบ
4.14 การตรวจติดตามภายใน
บทสรุปของข้อกำหนด 4.14
ตรวจติดตาม เรื่องดี ๆ ที่ควรทำนานแล้ว คงเคยได้ยินกันมาแล้วบ้างว่า การเป็นที่หนึ่งนั้นไม่ยาก แต่การรักษาที่หนึ่งให้นานที่สุดนั้นยากกว่า ที่เห็นด้วยไม่ใช่ตรงที่การจะเป็นที่หนึ่ง แต่ตรงที่การรักษาสิ่งที่ทำไว้แล้วให้คงที่สม่ำเสมอ นี่สิครับยากมาก สิ่งหนึ่งที่ในข้อกำหนดมาตรฐานระบบต่าง ๆ ที่ผู้เขียนเห็นว่าเป็นหัวใจและถ้ามาตรฐานเหล่านั้นไม่ได้กำหนดไว้มาตรฐานเหล่านั้นจะไม่มีประโยชน์อะไรเลยก็คือเรื่องการตรวจติดตามภายในนี่เอง
ข้อกำหนดระบุว่าผู้ทำหน้าที่เป็นผู้ตรวจติดตามต้องเป็นผู้ที่ได้รับการฝึกอบรม หัวข้อที่จำเป็นคืออบรมเรื่องข้อกำหนดของมาตรฐานนี้ และเรื่องการตรวจติดตามภายในอีกข้อหนึ่งผู้ตรวจติดตามต้องมีคุณสมบัติที่สามารถทำการตรวจได้ และต้องเป็นอิสระจากงานที่ตรวจ นั่นก็คือ ผู้ตรวจ ตรวจงานที่ตัวเองทำไม่ได้นะครับ
นอกจากนี้ การตรวจติดตามยังได้ระบุถึงการจัดการกรณีที่ไม่เป็นไปตามที่กำหนดที่พบนั้น หากส่งผลกระทบต่อผล ที่ห้องปฏิบัติการได้ดำเนินการทดสอบ/สอบเทียบ และส่งผลนั้นให้ลูกค้าแล้ว ต้องแจ้งให้ลูกค้าทราบเป็นลายลักษณ์อักษรด้วย
เนื้อหาข้อกำหนด 4.14
4.14.1 ห้องปฏิบัติการ ต้อง ทำการตรวจติดตามภายในกิจกรรมของตนเป็นระยะ ๆ ตามกำหนดการที่กำหนดขึ้นเอง ไว้ล่วงหน้า ทั้งความถี่ในการตรวจ กำหนดการคร่าว ๆ และตามขั้นตอนการดำเนินงาน (ดู อธิบายความหมายคำ) ที่ระบุขั้นตอนการดำเนินการตรวจติดตามภายใน ที่มีเนื้อหาสัมพันธ์กับข้อกำหนดด้านล่างต่อไป เพื่อทวนสอบว่าการดำเนินงานต่างๆ ของห้องปฏิบัติการยังคงเป็นไปตามข้อกำหนดของระบบการบริหาร ที่ห้องปฏิบัติการกำหนด และเป็นไปตามมาตรฐานนี้
โปรแกรม (Program) หรือที่เรามักคุ้นเคยกับคำว่าแผน ตรวจติดตามภายใน ต้อง ครอบคลุมทุกส่วนของระบบการบริหาร ที่อยู่ในขอบเจตการขอการรับรอง รวมทั้งกิจกรรมทดสอบ และหรือสอบเทียบ ที่เป็นการบริการแก่ลูกค้า เป็นความรับผิดชอบของผู้จัดการคุณภาพที่จะวางแผนการตรวจติดตามภายในและจัดให้มีการตรวจติดตาม ตามที่กำหนดไว้ในกำหนดการ (Schedule) และตามที่ผู้บริหารร้องขอ เช่น การติดตามเพิ่มเติม อันเนื่องมาจากการแก้ไขปัญหาตามข้อกำหนดที่ 4.11 การตรวจติดตามดังกล่าว ต้อง ดำเนินการโดยบุคลากร ที่อาจเป็น
- บุคคลากรภายในห้องปฏิบัติการ
- ภายในองค์กรแม่ที่ห้องปฏิบัติการสั่งการอยู่
- หรืออาจเป็นบุคคลภายนอกองค์กร ที่ว่าจ้องเป็นครั้งคราว
ที่มีคุณสมบัติ ที่เหมาะสมจะทำหน้าที่ตรวจติดตามภายใน และได้รับการฝึกอบรม เรื่องการตรวจติดตามภายใน แล้วและหากมีบุคลากรเพียงพอ กรณีที่เป็นบุคคลากรภายใน บุคลากรที่ใช้ต้องเป็นอิสระจากกิจกรรมที่ทำการตรวจติดตาม นั่นหมายความว่า หากจำเป็น ก็ต้องให้ตรวจงานตนเอง กรณีที่ห้องปฏิบัติการมีบุคลากรจำกัด เช่น 2-3 คน จึงไม่สามารถสลับกันตรวจได้ทุกกิจกรรม
หมายเหตุ
โดยปกติการตรวจติดตามภายใน ควรทำให้สมบูรณ์ทุกกิจกรรมภายใน 1 ปี
4.14.2เมื่อการตรวจติดตามพบข้อสงสัยหรือข้อบกพร่องที่เกี่ยวกับประสิทธิผลของการปฏิบัติงานหรือความถูกต้องในการปฏิบัติงานหรือความใช้ได้ของผลทดสอบหรือสอบเทียบของห้องปฏิบัติการห้องปฏิบัติการ ต้อง ดำเนินการแก้ไขโดยเร็วที่สุดเท่าที่ทำได้และ ต้อง แจ้งลูกค้าทราบเป็นลายลักษณ์อักษร ถ้าการตรวจสอบพบว่า ผลที่ออกโดยห้องปฏิบัติการ อาจได้รับผลกระทบ
4.14.3 ส่วนของกิจกรรมที่ถูกตรวจติดตามสิ่งที่ตรวจพบและการปฏิบัติการแก้ไขที่เกิดขึ้น จากการตรวจติดตามภายใน ต้อง มีการบันทึกไว้
4.14.4 การตรวจติดตามการแก้ไขในกิจกรรมต่าง ๆ ต้อง ทวนสอบและบันทึกการนำไปปฏิบัติและประสิทธิผลของการปฏิบัติการแก้ไข
4.15 การทบทวนโดยฝ่ายบริหาร
บทสรุปย่อของข้อกำหนด 4.15
ทบทวนฝ่ายบริหาร เรื่องที่ต้องใส่ใจผู้บริหารส่วนมาก มักไม่ได้ทำหน้าที่ที่ได้รับนั้นเท่าไรนักที่ทำทุกวันนี้มีบ้างก็ไปแย่งงานลูกน้องมาทำเสียเองสุดแล้วแต่ว่าถนัดด้านไหน เช่น ถนัดเรื่องการเงิน ก็มักจะสนในเรื่องบัญชีรายรับ/จ่าย ลูกค้ารายใดยังไม่จ่ายตัง ถนัดด้านงานทดสอบ/สอบเทียบ ก็มักลงไปกำกับเรื่องวิธีการทดสอบ/สอบเทียบ ถนัดเรื่องการตลาดก็มักไปคอยหาลูกค้า พาลูกค้าไปเลี้ยง เป็นต้น
ไม่ได้ทำงานของตัวเองเลย เช่น วางเป้าหมายที่ห้องปฏิบัติการในระยะยาว วางนโยบายให้ผู้ปฏิบัติใช้เป็นกรอบในการทำงานจัดหาทรัพยากรที่จำเป็นสนับสนุนการดำเนินงานต่าง ๆ รวมถึงการทบทวนเรื่องต่าง ๆ ที่กล่าวมาว่าเป็นไปตามเป้ามากน้อยแค่ไหน
วัตถุประสงค์ของข้อกำหนดนี้ ต้องการให้ผู้บริหารมาทำงานของตนเองบ้าง เช่น เรื่องการทบทวนเรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบริหาร การให้บริการปัจจุบันว่ามีประสิทธิผลเท่าไรมีการเปลี่ยนแปลงในการให้บริการอะไรบ้างมีปัญหาเกิดขึ้นบ้าง และปัญหาอะไรที่ซ้ำซาก ทรัพยากรต่าง ๆ เพียงพอในการให้บริการปัจจุบันหรือไม่ นี่คืองานหนึ่งของผู้บริหารการทบทวนเรื่องที่กล่าวมาทั้งหมด อาจจะทบทวนพร้อม ๆ ไปกับเรื่องอื่น ๆ ที่ปฏิบัติอยู่ประจำก็ได้
นอกจากการทบทวนเรื่องต่าง ๆ และผู้บริหารมีดำริที่ต้องให้ผู้ปฏิบัติปรับปรุง แก้ไขเรื่องใด ต้องบันทึกเอาไว้ด้วย เพื่อสามารถอ้างอิงได้นั่นเอง
เนื้อหาข้อกำหนด 4.15
4.15.1 เพื่อเป็นไปตามกำหนดการที่กำหนดไว้ล่วงหน้า และตามขั้นตอนการดำเนินงาน (ดู อธิบายความหมายคำ) ผู้บริหารระดับสูงสุดของห้องปฏิบัติการ ต้อง มีการทบทวนระบบคุณภาพและกิจกรรมการทดสอบ และ/หรือสอบเทียบ ของห้องปฏิบัติการเป็นระยะ ๆ ตามที่กำหนดไว้ล่วงหน้า เพื่อให้มั่นใจว่ายังคงมีความเหมาะสม ต่อการดำเนินงานของห้องปฏิบัติการ และมีประสิทธิผล (ดู อธิบายความหมายคำ) และเพื่อนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงหรือการปรับปรุง (ดู อธิบายความหมายคำ) ที่จำเป็น การทบทวนดังกล่าว ต้อง คำนึงถึง
- ความเหมาะสมของนโยบายและขั้นตอนการดำเนินงานต่าง ๆ ที่กำหนดอยู่ปัจจุบัน
- รายงานจากบุคลากรผู้ทำหน้าที่จัดการและควบคุมงาน อาทิ ความคืบหน้าการปฏิบัติตามวัตถุประสงค์ที่กำหนด
- ผลที่ได้จากการตรวจติดตามคุณภาพภายในก่อนหน้านี้
- การปฏิบัติการแก้ไขและการป้องกันต่าง ๆ ตามข้อกำหนดที่ 4.11 และ 4.12
- การตรวจประเมินโดยหน่วยงานจากภายนอก เช่น จากผู้ให้การรับรอง หรือการเข้าร่วมกิจกรรมการทดสอบความชำนาญ หรือจากลูกค้า
- ผลจากการเปรียบเทียบผลระหว่างห้องปฏิบัติการ หรือการทดสอบความชำนาญ ตามข้อกำหนดที่ 5.9
- การเปลี่ยนแปลงปริมาณและประเภทของงาน จาก สภาวะการแข่งขัน โอกาสในการแข่งขันหรือการปรับปรุงการทำงานของห้องปฏิบัติการ การวิเคราะห์ผลตอบกลับจากลูกค้า
- การตอบกลับจากลูกค้า ตามข้อกำหนดที่ 4.7
- ข้อร้องเรียน อาจทั้งจากลูกค้า และภายในห้องปฏิบัติการแต่ละหน่วยงานกันเอง
- ข้อแนะนำในการปรับปรุง ที่อาจมาจาก ลูกค้า ตามข้อกำหนดที่ 4.7 หรือการพิจารณาตามข้อกำหนดที่ 4.12
- ปัจจัยที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ เช่น กิจกรรมการควบคุมคุณภาพ ทรัพยากร และการฝึกอบรมพนักงาน
หมายเหตุ
1. โดยปกติช่วงเวลาในการทบทวนการบริหารคือกระทำทุก ๆ 12 เดือน
2. ผลจากการทบทวน ควรป้อนเข้าสู่ระบบการวางแผนของห้องปฏิบัติการ และควร รวมถึง เป้าหมาย วัตถุประสงค์ และแผนปฏิบัติการสำหรับปีต่อไป
3. การทบทวนการบริหาร หมายรวมถึง การพิจารณา เรื่องที่เกี่ยวข้อง ในการประชุมผู้บริหารตามปกติด้วย
4.15.2 สิ่งที่พบจากการทบทวนการบริหาร และการปฏิบัติการต่าง ๆ ที่เกิดจากการทบทวนดังกล่าว ต้อง มีการ
บันทึกไว้ และพิจารณาดำเนินการปรับปรุงตามข้อกำหนดที่ 4.10 ผู้บริหาร ต้อง มั่นใจว่าการปฏิบัติเหล่านั้น ได้ดำเนินการไปภายในระยะเวลาที่เหมาะสมและ ตามที่ได้ ตกลงกันไว้
ข้อกำหนดด้านการจัดการจบลงแล้วครับ ในตอนหน้าจะเริ่มอธิบายข้อกำหนดด้านวิชาการต่อไปครับ ซึ่งรายละเอียดโดยข้อกำหนดเองจะมีมาก และผู้อ่านสามารถเข้าใจความต้องการอยู่แล้ว ส่วนของการอธิบายเพิ่มเติมโดยผู้เขียนอาจแทรกบางส่วนเท่านั้น ติดตามกันต่อไปนะครับ
สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.
ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด