เคยหรือไม่ ? เมื่อเข้าไปในอาคารสำนักงานแล้วรู้สึกว่าปวดหัว อ่อนเพลีย เซื่องซึม จาม น้ำมูกไหล คัดหรือแสบจมูก คันผิวหนัง ระคายเคืองตาหรือตาแดง ระคายคอ ไอ หายใจขัด เกิดอาการหอบหืด โดยไม่รู้สาเหตุ
เชื้อรา (Molds) อันตรายใกล้ตัวที่ไม่ควรมองข้าม
ศิริพร วันฟั่น
เคยหรือไม่ ?…เมื่อเข้าไปในอาคารสำนักงานแล้วรู้สึกว่าปวดหัว อ่อนเพลีย เซื่องซึม จาม น้ำมูกไหล คัดหรือแสบจมูก คันผิวหนัง ระคายเคืองตาหรือตาแดง ระคายคอ ไอ หายใจขัด เกิดอาการหอบหืด โดยไม่รู้สาเหตุ แท้ที่จริงแล้วอาการดังกล่าวเกิดขึ้นเพราะภาวะภูมิแพ้อันเนื่องมาจากการสัมผัสกับสิ่งปนเปื้อนต่าง ๆ ของอากาศภายในอาคารนั่นเอง เช่น สารเคมี เชื้อจุลินทรีย์ต่าง ๆ อันได้แก่ แบคทีเรีย ไวรัส เชื้อรา นั่นเอง
ซึ่งอาการเหล่านี้ถือว่าเป็นการเจ็บป่วยที่มีส่วนสัมพันธ์กับอาคาร (Building Related Illnesses: BRI) หรือการเจ็บป่วยที่เกิดจากสาเหตุจำเพาะในอาคาร (Specific Building Illness: SBRI) ซึ่งเป็นภาวะผิดปกติด้านสุขภาพหรือการเจ็บป่วยต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับผู้ปฏิบัติงานโดยมีส่วนสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกับอาคารที่ทำงานอยู่ และระบุได้ว่ามีสาเหตุมาจากการปนเปื้อนของอากาศภายในอาคาร เป็นต้นว่าเชื้อรา ซึ่งอาการต่าง ๆ จะไม่หายไปอย่างทันทีทันควันเมื่อออกจากอาคาร มิหนำซ้ำบางคนยังมีอาการเรื้อรังซึ่งต้องใช้เวลานานพอสมควรในการรักษาตัว
เชื้อราเป็นจุลินทรีย์ (Microorganism) ชนิดหนึ่ง ที่เราสามารถพบเจอได้ทั้งภายในและภายนอกอาคาร เราสัมผัสกับเชื้อราในอากาศที่เราหายใจเข้าไปทุกวัน โดยที่เราแทบไม่รู้สึกตัวหรือมองไม่เห็น เมื่อเชื้อรามีการเจริญเติบโตอยู่เป็นจำนวนมากภายในอาคาร ก็สามารถที่จะก่อให้เกิดอาการเจ็บป่วยได้หลายรูปแบบ โดยมากแล้วพนักงานส่วนใหญ่จะไม่ได้รับผลกระทบอันเนื่องมาจากเชื้อรา
แต่ก็มีพนักงานบางส่วนที่จะมีอาการป่วยลักษณะคล้ายกับไข้ละอองฟาง (Hay Fever) ซึ่งเป็นปฏิกิริยาของร่างกายต่อสารที่เป็นละอองในอากาศ เช่น เกสรดอกไม้ เชื้อรา ที่ถูกสูดดมหรือผ่านเข้าทางปาก ทำให้เกิดอาการหายใจเสียงดังวี๊ด คัดจมูก น้ำมูกไหล น้ำลายมาก ตาแฉะ แสบร้อน คอแห้ง และมีอาการป่วยคล้ายโรคหวัดทั่วไป รวมถึงอาการของโรคหอบหืด (Asthma) ที่มักจะเป็นรุนแรงขึ้นเมื่ออยู่ในอาคารสำนักงาน แล้วคุณล่ะ เป็นหนึ่งในกลุ่มคนเหล่านั้นหรือไม่ ?
ปัจจัยที่เอื้อต่อการเจริญเติบโตของเชื้อราก็คือ สภาวะแวดล้อมที่ชุ่มชื้น (Moisture) หรือมีความชื้นสูง (Humidity) และมีแหล่งอาหารประเภทอินทรีย์สารทั่วไป (Organic Material) เช่น กระดาษ ไม้ ผ้าม่าน พรม เป็นต้น เชื้อรามีอยู่ด้วยกันหลายชนิดและหลากสี ตั้งแต่ขาว ส้ม เขียว น้ำตาล หรือดำ โดยบางส่วนเราสามารถสังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่า แต่ก็มีบางส่วนที่มองไม่เห็นแต่เราอาจรับรู้ได้ถึงกลิ่น
ซึ่งเป็นสารเคมีที่เชื้อราสร้างขึ้นและระเหยออกมา เชื้อราสืบพันธุ์โดยการใช้สปอร์ซึ่งมีขนาดเล็กมาก ส่วนใหญ่จะเล็กกว่า 10 ไมครอน มีขนาดและรูปร่างแตกต่างกันออกไป และสามารถล่องลอยอยู่ในอากาศได้นาน ๆ ซึ่งสปอร์บางส่วนนี้ก็อยู่ในอากาศที่เราหายใจเข้าไปนั่นเอง เราก็สูดดมแล้วเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ รวมถึงมีการสัมผัสกับผิวหนังอีกทางหนึ่งด้วย ในยามใดที่สปอร์ไปตกยังบริเวณที่มีสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสมก็สามารถที่จะเจริญเติบโตได้อย่างรวดเร็ว โดยทั่วไปแล้ว เชื้อราสามารถสร้างสารก่อภูมิแพ้ (Allergens) สารระคายเคือง (Irritants)
และในบางครั้งเชื้อราบางชนิดก็สามารถที่จะผลิตสารเคมีที่เป็นพิษที่เรียกว่า Mycotoxins ซึ่งมีมากกว่า 200 ชนิด เจ้า Mycotoxins นี้จะติดไปกับสปอร์และส่วนอื่น ๆ ของเชื้อรา ดังนั้นเราก็จะได้รับเข้าไปพร้อมกันทั้งสปอร์ของเชื้อราและ Mycotoxins เมื่อสูดดมหรือสัมผัสกับเชื้อรา
รูปที่ 1 เชื้อราเจริญเติบโตบนเพดานและผนังห้อง
รูปที่ 2 ส่วนขยายสปอร์ของเชื้อรา ขนาด 3–200 ไมครอน
เราสามารถพบเห็นเชื้อราอยู่บนวัสดุ สิ่งของต่าง ๆ ภายในสำนักงาน เช่น ไม้ กระดาษ สิ่งทอ ผลิตภัณฑ์พลาสติก รวมถึงผนังกั้นห้อง/อาคาร เพดาน พรมหรือด้านหลังวอล์ลเปเปอร์ แม้กระทั่งอยู่ตามชิ้นส่วนของระบบทำความร้อน ระบบระบายอากาศ และระบบปรับอากาศ (Heating, Ventilation, and Air Conditioning: HVAC Systems) ตัวอย่างเช่น ในถาดน้ำทิ้งของเครื่องปรับอากาศ ซึ่งเป็นแหล่งหมักหมมของเชื้อโรคต่างๆ
เนื่องจากในเครื่องปรับอากาศมีความชื้นที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโต และพัดลมของเครื่องปรับอากาศก็จะพัดพาเอาเชื้อราและจุลินทรีย์ต่าง ๆ ออกมาตลอดเวลาที่เปิดเครื่อง สังเกตได้จากการมีกลิ่นอับชื้นตอนเปิดเครื่อง ซึ่งเป็นกลิ่นอับชื้นจากเชื้อรา นอกจากนี้เชื้อราที่เกิดขึ้นนั้นก็อาจมีสาเหตุจากอีกหลายประการด้วยกัน เป็นต้นว่า น้ำท่วม การรั่วซึมของน้ำหรือน้ำฝนตามบริเวณที่ต่างๆ เช่น ระบบท่อน้ำ ขอบประตู หน้าต่าง รางระบายน้ำ หลังคา รวมถึงการควบแน่นของน้ำตามฉนวนหรือกระจก เป็นต้น
ผลกระทบต่อสุขภาพเมื่อสัมผัสกับเชื้อรา
เชื้อราสามารถก่อให้เกิดภูมิแพ้ (Allergy) การติดเชื้อ (Infection) หรืออาการป่วยอื่น ๆ โดยมากแล้วพนักงานส่วนใหญ่จะไม่แสดงอาการ แต่ก็อาจมีบางคนที่มีโอกาสสูงที่จะแสดงอาการเจ็บป่วยเกิดขึ้นจากการสัมผัสกับเชื้อรา ซึ่งกลุ่มบุคคลเหล่านี้ ได้แก่
- ผู้ที่เป็นภูมิแพ้อยู่แล้ว
- ผู้ที่มีภาวะเป็นโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจต่าง ๆ รวมถึงโรคหอบหืดหรือโรคปอด
- ผู้ที่มีภูมิต้านทานโรคต่ำระดับปานกลาง (Moderately Immunocompromised) เช่น โรคเบาหวาน หรือภูมิต้านทานโรคต่ำระดับรุนแรง (Severely Immunocompromised) เช่น HIV/เอดส์ มะเร็งเม็ดเลือดขาว ผู้ที่ได้รับเคมีบำบัด หรือผู้ที่ได้รับการปลูกถ่ายไขกระดูกหรืออวัยวะ
- ทารก เด็ก ผู้สูงอายุ
- สตรีมีครรภ์
- ผู้ป่วยในระยะพักฟื้น
กลุ่มอาการภูมิแพ้ (Allergy)
- เยื่อจมูกอักเสบหรือไซนัส (Allergic Rhinitis or Sinusitis) มีลักษณะอาการคล้ายคลึงกับไข้ละอองฟางหรือหวัดทั่วไปแต่ระยะเวลาที่เป็นจะยาวนานกว่า โดยมีอาการดังนี้ คือ จาม น้ำมูกไหล คัดหรือแสบจมูก ระคายเคืองตาหรือตาแดง ระคายคอ และไอ โดยอาการจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วหลังจากสัมผัสกับเชื้อรา
- ผิวหนังอักเสบ (Dermatitis) คันและเกิดผดผื่น
- โรคหอบหืด (Asthma) อาการจะรุนแรงขึ้น มีอาการไอ หายใจขัดมีเสียงหวีด หายใจสั้น แน่นหน้าอก โดยอาการมักจะเกิดขึ้นหลังจากสัมผัสเชื้อราเพียงไม่กี่นาที และมีอาการซ้ำในเวลา 6–10 ชั่วโมงต่อมา ซึ่งในปัจจุบันโรคนี้กำลังเป็นประเด็น Talk of the town ที่พูดถึงกันมากโดยเฉพาะในกลุ่มดารานักแสดงก็พบว่าเสียชีวิตเพราะโรคนี้กันหลายคน
- ไวต่อภาวะปอดอักเสบอย่างอ่อน (Hypersensitivity Pneumonitis) ซึ่งเกี่ยวกับปอดและร่างกาย โดยจะมีอาการแน่นหน้าอก หายใจขัด ไอ มีไข้ และปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ โดยอาการจะเกิดขึ้นในระยะเวลา 4–6 ชั่วโมงหลังจากสัมผัสกับเชื้อรา โดยอาการในกลุ่มนี้จะมีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อย
หมายเหตุ โรคหอบหืดจะแตกต่างจากโรคภาวะปอดอักเสบตรงที่ตำแหน่งของการอักเสบ โดยโรคหอบหืดจะเกิดการอักเสบที่ช่องทางเดินของลมหายใจ (Airways) ขนาดใหญ่ใกล้กับปากและจมูก ส่วนโรคภาวะปอดอักเสบนั้นเกิดการอักเสบที่ช่องทางเดินของลมหายใจขนาดเล็ก คือ หลอดลมฝอยหรือถุงลมในปอด
กลุ่มอาการติดเชื้อเรื้อรัง (Infection) ซึ่งกลุ่มอาการนี้มีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อย
- โรคปอดลุกลามอย่างรวดเร็ว (Invasive Pulmonary Aspergillosis) เกิดขึ้นในเฉพาะกลุ่มผู้ที่มีภูมิต้านทานโรคต่ำระดับรุนแรง โดยจะมีอาการของปอดอักเสบร่วมกับไข้หวัด ปวดกระดูก หนาวสั่น ปวดหัว และน้ำหนักลด
- โรคเชื้อราที่เกิดขึ้นจากภาวะปอดอักเสบที่มีอยู่ก่อน (Aspergilloma) จะมีอาการการไอเป็นเลือด และน้ำหนักลด
- โรคเชื้อราเกี่ยวกับปอดและหลอดลม (Aiiergic Bronchopulmonary Aspergillosis: ABPA) มีอาการหอบหืดรุนแรงขึ้น รวมถึงไอเป็นเลือดและน้ำหนักลด
กลุ่มอาการป่วยอื่น ๆ
ปวดหัว เป็นไข้ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ สมาธิสั้นและอารมณ์เปลี่ยนแปลงได้ง่าย
โดยมากแล้วอาการป่วยที่เราพบบ่อยที่สุด ซึ่งเป็นผลกระทบต่อสุขภาพจากการสัมผัสกับเชื้อรา คือ กลุ่มอาการภูมิแพ้ ดังกล่าวข้างต้น ซึ่งจะมีลักษณะอาการคล้ายคลึงกับภูมิแพ้ที่มีสาเหตุจากการแพ้ละอองเกสรดอกไม้หรือขนสัตว์
ในประเทศยุโรปนั้น ได้มีการทดสอบผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ พบว่าร้อยละ 5–10 ของผู้ป่วยแสดงอาการแพ้ต่อเชื้อรา สปอร์และชิ้นส่วนใยของเชื้อราที่อยู่ในอากาศภายในอาคาร จึงได้มีการระบุว่าเชื้อราเป็นสาเหตุที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ก่อให้เกิดโรคภูมิแพ้และหอบหืดได้
ส่วนการกำหนดมาตรฐานว่าเชื้อราปริมาณมากน้อยเพียงใด ที่จะเป็นอันตรายต่อสุขภาพนั้น ก็ยังไม่ชัดเจนตายตัวนัก แม้แต่ในต่างประเทศเองก็ตาม เพราะผลกระทบต่อสุขภาพนั้นขึ้นอยู่กับสภาวะร่างกายเฉพาะตัวบุคคล ซึ่งมีความแตกต่างกันออกไป บางคนจะมีการตอบสนองที่ไวต่อเชื้อราและแสดงอาการทันทีที่สัมผัส ในขณะที่บางคนอาจใช้เวลาพอสมควรกว่าจะแสดงอาการออกมา รวมทั้งตัวเชื้อราเองก็มีมากกว่า 20,000 สายพันธุ์ ซึ่งคุณสมบัติความเป็นพิษก็ต่างกันออกไป ดังนั้นการจัดตั้งมาตรฐานความปลอดภัยที่มีผลต่อสุขภาพสำหรับการปนเปื้อนหรือการสัมผัสกับเชื้อราจึงจัดทำได้ยาก ผลร้ายต่อสุขภาพจึงตกอยู่กับพนักงานบางส่วนที่ต้องทนทุกข์กับ “มฤตยูล่องหน” เหล่านี้ต่อไป และทำได้เพียงแต่ป้องกันและแก้ไขปัญหาให้บรรเทาเบาบางลงเท่านั้น
เราจะทราบได้อย่างไรว่าได้สัมผัสกับเชื้อราในสำนักงาน ?
ในการที่เราจะทราบว่ามีการสัมผัสกับเชื้อราในสำนักงานหรือไม่นั้น ให้ลองสังเกตตัวเองดูว่า มีอาการต่าง ๆ ดังเช่นที่กล่าวแล้วในข้างต้นบ้างหรือไม่ ในยามที่ปฏิบัติงานในอาคารสำนักงาน ซึ่งลักษณะอาการที่เกิดขึ้นนั้น จะมีความรุนแรงแตกต่างกันขึ้นอยู่กับปัจจัยในแต่ละบุคคล เช่น อายุ ปฏิกิริยาตอบสนองที่มีต่อเชื้อรา ภาวะการเป็นภูมิแพ้ ความไวหรือภาวะการติดโรคได้ง่าย (Susceptibility) รวมถึงชนิดของเชื้อรา ปริมาณและระยะเวลาที่สัมผัสกับเชื้อรา อวัยวะหรือบริเวณที่สัมผัส เป็นต้น
โดยส่วนใหญ่แล้วจะมีอาการเพียงชั่วคราวแต่จะไม่หายไปอย่างรวดเร็ว เพียงแต่รู้สึกว่าอาการจะค่อย ๆ ดีขึ้น หรือบรรเทาเบาบางลงเมื่ออยู่ห่างหรือออกจากสำนักงาน บางคนก็ยังต้องใช้ระยะเวลาพอสมควรในการรักษาตัว ในขณะที่บางคนก็เป็นอย่างต่อเนื่องหรือเรื้อรัง ซึ่งความถี่ของการสัมผัสกับเชื้อราหรือสปอร์รา จะเป็นปัจจัยเร่งให้เกิดอาการตอบสนองได้ไวขึ้น โดยจะทำให้ผู้ที่ไม่มีความไวในการตอบสนอง
เริ่มมีการตอบสนองที่ไวขึ้นเมื่อได้สัมผัสซ้ำอีก ดังนั้นทางที่ดีควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับเชื้อรา ส่วนการรักษานั้นก็ต้องไปพบแพทย์เฉพาะทางเพื่อวินิจฉัยโรคหรืออาการที่เกิดขึ้นว่าเป็นเพราะเชื้อราหรือไม่ ถ้าใช่ก็ต้องใช้ยาในการควบคุมตามลักษณะอาการป่วยและปฏิบัติตัวตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด
แนวทางในการป้องกันและแก้ไขปัญหาเชื้อราในสำนักงาน
การกำจัดและทำความสะอาดเชื้อราในสำนักงาน เราสามารถที่จะกำจัดเชื้อราได้โดยใช้วิธีและเครื่องมือที่เหมาะสม ซึ่งผู้ดำเนินการนั้น ต้องมีสุขภาพแข็งแรง ไม่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ และไม่มีแนวโน้มหรือส่อว่าเป็นโรคภูมิแพ้ใด ๆ รวมถึงอาจมีความจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลด้วย โดยทั่วไปแล้วมักใช้วิธี ดังนี้คือ
- สำรวจ/ประเมินรวมทั้งระบุขนาด/ขอบเขตของพื้นที่ที่เกิดปัญหา ชนิดของวัสดุ สิ่งของที่ถูกเชื้อราทำให้เสียหาย ความเสี่ยงที่มีผลกระทบต่อผู้ดำเนินการ แล้วกำหนดวิธี เครื่องมือ และอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลที่จำเป็นต้องใช้และมีความเหมาะสมสำหรับกระบวนการกำจัดและทำความสะอาด ซึ่งมีความจำเป็นที่ต้องกระทำการในวันหยุดหรือในวันที่มีพนักงานทำงานน้อยที่สุด
เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องได้รับอันตรายโดยใช่ที่และควรมีการแจ้งพนักงานเหล่านั้นให้รับทราบก่อน(โดยเฉพาะผู้เป็นโรคภูมิแพ้หรือหอบหืด)ในบางครั้งอาจมีความจำเป็นที่ต้องกันพื้นที่เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องเข้าไปยุ่งเกี่ยว ทางที่ดีควรเริ่มจากพื้นที่เล็ก ๆ ก่อนเพื่อทดสอบว่าผู้ดำเนินการมีอาการแพ้หรือไม่ ถ้ามีความเสี่ยงสูงหรือไม่มั่นใจก็ควรเลือกใช้บริการจากบริษัททำความสะอาดโดยเฉพาะจะดีกว่า
หมายเหตุ พื้นที่ขนาดเล็กแต่มีอัตราการเติบโตของเชื้อราสูง จะสามารถปลดปล่อยสปอร์ได้มากกว่าพื้นที่ขนาดใหญ่แต่อัตราการเติบโตของเชื้อราต่ำ
- ในการพิจารณาถึงความจำเป็นที่ต้องใช้อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล ควรเลือกใช้ให้สอดคล้องกับผลการประเมินปัญหาทั้งในส่วนของความเสี่ยงของผู้ดำเนินการ ขนาดของพื้นที่ ระดับความรุนแรงและความซับซ้อนของงาน รวมถึงประเภทของสารเคมี
หรือน้ำยาที่ใช้ในการกำจัดหรือทำความสะอาด ซึ่งอุปกรณ์ป้องกันที่เลือกใช้ เช่น ถุงมือขนาดยาวกึ่งกลางแขน หน้ากากป้องกันระบบหายใจ (Respirator) แบบ N–95 สามารถกรองอนุภาคได้ 95 % หรือหน้ากากป้องกันและฟอกอากาศแบบครึ่งหน้า/เต็มหน้าพร้อมกับแผ่นกรองอากาศอนุภาคละเอียด (High–Efficiency Particulate Air: HEPA Filter Cartridge) แว่นตา (Goggle) ชุดคลุมป้องกัน รองเท้าบูท หมวกครอบศีรษะ เป็นต้น
ข้อพึงระวัง
- ไม่ควรใช้มือเปล่าสัมผัสเชื้อราหรือสปอร์และหลีกเลี่ยงการฟุ้งกระจายเข้าสู่ดวงตา หรือสูดดมในระหว่างกระบวนการกำจัดหรือทำความสะอาด
- สำหรับพื้นที่ที่เกิดเชื้อรามีลักษณะพื้นผิวแข็ง เช่น คอนกรีต กระเบื้อง ไวนิล ก็สามารถใช้แปรงขัดร่วมกับผงซักฟอกหรือน้ำยาทำความสะอาดสุขภัณฑ์ทั่วไป (สามารถใช้ถุงมือยางได้) แล้วใช้น้ำสะอาดชะล้างอีกครั้ง และทำให้พื้นผิวแห้ง แต่ถ้าใช้น้ำยาคลอรีน (Chlorine Bleach) หรือสารทำความสะอาดที่มีความเข้มข้นก็ควรเลือกใช้ถุงมือที่ทำจาก Natural Rubber, Neoprene, Nitride, Polyurethane หรือ PVC นอกจากนั้นยังมีความจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ป้องกันอย่างอื่นร่วมด้วย
ข้อพึงระวัง
- ห้ามผสมหรือใช้ Chlorine Bleach Solution ร่วมกับน้ำยาทำความสะอาด หรือผงซักฟอกใด ๆ ที่มีส่วนผสมของแอมโมเนีย เพราะจะเกิดฟูมที่เป็นพิษขึ้นได้
- ถ้าประเมินแล้วพบว่าเชื้อราขึ้นบนเฟอร์นิเจอร์มีไม่มาก ก็สามารถใช้ 10 % Chlorine Bleach หรือผงคลอรีน 1 ส่วนผสมกับน้ำดื่ม 10 ส่วน หรือใช้ 5 % Sodium Hyperchloride เช็ดหรือพ่นยังบริเวณที่มีเชื้อราต่อเนื่องทุกวันจนเชื้อราหายไป จากนั้นเว้นระยะเช็ดหรือพ่นเป็นสัปดาห์ละครั้ง เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เชื้อราเจริญเติบโตอีก แต่ถ้ามีการกัดกร่อนของเฟอร์นิเจอร์ให้ใช้ 5 % ฟอร์มาลีน (ฟอร์มัลดีฮัยด์ โซลูชั่น ขององค์การเภสัชกรรม ในอัตรา 1 ส่วนผสมกับน้ำดื่ม 7 ส่วน) แทนน้ำยาคลอรีน
- กรณีเชื้อราขึ้นบนวัสดุหรือเฟอร์นิเจอร์ที่กำจัดได้ยาก เช่น พรม หรือวัสดุอื่น ๆ ที่มีลักษณะรูพรุนไม่เรียบ ควรเปลี่ยนใหม่จะดีที่สุด เพราะเชื้อราจะแทรกตัวอยู่ตามช่องว่างและรอยแยกเล็กของวัสดุที่มีรูพรุน ทำให้ยากที่จะกำจัดเชื้อราได้อย่างหมดจด
- เชื้อราบางส่วนอาจซ่อนตัวอยู่ในส่วนที่มองไม่เห็น แต่เราอาจรับรู้ได้ถึงกลิ่น เช่น อยู่ด้านหลังวอล์ลเปเปอร์ ก็ควรลอกออกแล้วเปลี่ยนใหม่ (แต่ระวังการฟุ้งกระจายของสปอร์ระหว่างการลอกออก) หรืออยู่ด้านล่างพรม/เก้าอี้นวม เป็นต้น ดังนั้นเมื่อได้กลิ่นเชื้อราหรือคาดว่าจะมีเชื้อรา ก็ควรมีการสำรวจอย่างทั่วถึง
- เมื่อต้องการทาสีใหม่ในบริเวณที่มีเชื้อราขึ้น ควรทำการกำจัดเชื้อรา ทำความสะอาด ทำให้แห้งและขัดพื้นผิวก่อน แล้วจึงค่อยทาสีใหม่และควรเลือกใช้สีที่มีคุณภาพและกันเชื้อราได้
- เมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการกำจัดและทำความสะอาดแล้ว ควรมีการตรวจสอบ ประเมินผลความสำเร็จ โดยย้อนกลับไปตรวจสอบพื้นที่ที่เป็นปัญหาว่ายังมีการหลงเหลือของเชื้อราอยู่อีกหรือไม่ รวมถึงสังเกตว่ายังมีพนักงานประสบปัญหาเจ็บป่วยเหมือนที่แล้วมาอีกหรือไม่ ถ้ามีแสดงว่ามี 2 สาเหตุ คือ การเจ็บป่วยนั้นไม่เกี่ยวข้องกับเชื้อรา ซึ่งต้องให้แพทย์เฉพาะทางหาสาเหตุที่แท้จริงต่อไป หรืออีกนัยหนึ่งคือ กระบวนการกำจัดและทำความสะอาดไม่ประสบผลสำเร็จ
ข้อพึงระวัง
เราพบว่ามีโอกาสเสี่ยงอย่างมากในการที่จะสัมผัสกับเชื้อราหรือสปอร์ในระหว่างกระบวนการกำจัดหรือทำความสะอาด ดังนั้นพึงหลีกเลี่ยงการสูดดม การฟุ้งกระจายเข้าสู่ดวงตา หรือการสัมผัสโดยตรงกับเชื้อรา สปอร์ เพราะจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพ แม้แต่เชื้อราที่ตายแล้วก็ยังมีสารก่อภูมิแพ้อยู่เช่นกัน ดังนั้นอย่าประมาท ในระหว่างการกำจัดหรือทำความสะอาดควรสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล และพยายามจำกัดการฟุ้งกระจายของเชื้อราที่อาจแพร่ไปยังพื้นที่ข้างเคียง หลังจากที่ทำการกำจัดและทำความสะอาดเสร็จสิ้นแล้ว ควรนำเศษเชื้อราใส่ถุงแล้วรัดปากถุงให้แน่น ทิ้งในถังขยะที่มีฝาปิด
รูปที่ 3 การกำจัดเชื้อราโดยผู้ดำเนินการได้สวมใส่ถุงมือ แว่นตา (Goggle) หน้ากากป้องกันระบบหายใจแบบ N-95 รองเท้า หมวกคลอบศีรษะและสวมใส่เสื้อผ้ารัดกุม ทั้งนี้เพื่อป้องกันการสูดดม การฟุ้งกระจายเข้าสู่ดวงตา หรือสัมผัสโดยตรงกับเชื้อราหรือสปอร์
การป้องกัน ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า เป็นไปไม่ได้ที่เราจะกำจัดเชื้อราและสปอร์ได้อย่างหมดจด เพราะว่ายังมีสปอร์ล่องลอยอยู่ในอากาศ และพร้อมที่จะเจริญเติบโตถ้าตกไปยังที่ที่มีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม นอกจากนี้ยังมีการศึกษาพบว่าสปอร์ของเชื้อราสามารถที่จะมีชีวิตรอดอยู่ได้สบาย ๆ หลายต่อหลายปีแม้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่แห้งหรือร้อน เพียงแค่รอเวลาสำหรับความชุ่มชื้นและอินทรีย์สารเท่านั้นก็สามารถเจริญเติบโตขึ้นมาได้อีก ดังนั้นการป้องกันการเกิดขึ้นของเชื้อราจึงถูกมองว่าเป็นหนทางที่ดีที่สุด โดยสิ่งที่พึงกระทำ มีดังนี้
- สำรวจแล้วระบุถึงปัญหาน้ำรั่วซึมตามจุดต่าง ๆ เช่น ท่อน้ำ รางน้ำฝน หลังคา ขอบวงกบประตู หน้าต่าง หรือการควบแน่นของไอน้ำตามฉนวนหรือกระจก ความลาดเอียงของพื้นที่ทำให้น้ำขังอยู่ตามฐานรากของอาคาร ตรวจสอบชิ้นส่วนของระบบทำความร้อน ระบบระบายอากาศ และระบบปรับอากาศ (Heating ,Ventilation , and Air conditioning: HVAC Systems) เช่น ถาดน้ำทิ้งและท่อน้ำทิ้งของเครื่องปรับอากาศ หรือท่อลม (Air Ducts) ของระบบ หรือแผ่นกรองอากาศของระบบระบายอากาศ ว่ามีปัญหาหรือแนวโน้มที่จะเกิดเชื้อราขึ้นบ้างหรือไม่ รวมถึงบริเวณต่าง ๆ ที่คาดว่าจะประสบปัญหา แล้วรีบดำเนินการแก้ไขทันที
- เมื่อสังเกตเห็นหรือพบว่ามีน้ำหกไหลอยู่ตามเฟอร์นิเจอร์ พื้นห้อง หรือส่วนต่าง ๆ ก็ควรรีบเช็ดทำความสะอาดให้แห้ง เพราะเชื้อราบางชนิดก็ใช้เวลาเพียงแค่ 4–12 ชั่วโมงสำหรับการเจริญเติบโตและสามารถแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็วภายใน 24–48 ชั่วโมง
- ควบคุมความชื้น (Humidity) ภายในสำนักงานให้ไม่สูงจนเกินไป ซึ่งสภาพแวดล้อมที่ดีควรที่จะมีความชื้นสัมพัทธ์ (Relative Humidity) ต่ำกว่า 60 % หรือให้อยู่ราว ๆ 30–50 % โดยสามารถใช้เครื่องวัดความชุ่มชื้น (Moisture Meters) ตรวจสอบหรือวัดความชุ่มชื้นของวัสดุในอาคารสำนักงานได้ เช่น พรม ไม้ อิฐ คอนกรีต หรือใช้เครื่องวัดความชื้น (Humidity Gauges or Meters) เพื่อวัดปริมาณความชื้นในสำนักงาน รวมถึงอาจใช้ Humidistat ซึ่งเป็นอุปกรณ์ควบคุมที่สามารถนำไปติดตั้งเชื่อมต่อกับระบบ HVAC โดยถ้าเมื่อใดที่ระดับความชื้นเพิ่มสูงเกินค่าที่ตั้งไว้ ระบบก็จะทำงานโดยอัตโนมัติ
- เมื่อมีการรายงานเกี่ยวกับสุขภาพของพนักงานแล้วสงสัยว่าจะมีสาเหตุจากเชื้อราในสำนักงาน ก็ควรรีบดำเนินการตรวจสอบหาข้อเท็จจริง และทำการแก้ไขเสียแต่เนิ่น ๆ
- พบหรือปรึกษาแพทย์กรณีสงสัยในอาการป่วยที่เป็น ๆ หาย ๆ ที่มีลักษณะดังกลุ่มอาการป่วยต่าง ๆ ข้างต้น เพื่อรับฟังคำวินิจฉัยจากแพทย์ว่าเป็นผลมาจากการสัมผัสกับเชื้อราหรือเป็นเพราะสาเหตุอื่น
- เมื่อพบหรือสังเกตเห็นหรือได้กลิ่นเชื้อรา ก็ควรรีบแจ้งผู้ที่เกี่ยวข้องให้รับทราบเพื่อรีบดำเนินการกำจัดและทำความสะอาด รวมถึงป้องกันก่อนที่ปัญหาเชื้อราจะลุกลามไปมากกว่านั้น
- จัดการให้มีระบบการระบายอากาศในอาคารที่ดี และมีการทำความสะอาดภายในอาคารอย่างทั่วถึงและสม่ำเสมอรวมถึงหมั่นดูแลรักษาสภาพอาคารเป็นประจำ
จากที่กล่าวมาทั้งหมด เราอาจจะมองว่าเชื้อราเป็นสิ่งที่ไม่มีประโยชน์เลย แล้วเกิดมาทำไมเนี่ย ! แต่เราก็ต้องให้ความเป็นธรรมกับเชื้อราบ้างว่า ใช่ว่าเจ้าเชื้อราจะมีแต่โทษแต่เพียงอย่างเดียว เชื้อรานั้นเกิดมามีบทบาทในฐานะผู้ย่อยสลายซากอินทรีย์สารต่าง ๆ ในระบบนิเวศน์เพื่อให้เกิดความสมดุล
นอกจากนี้เรายังสามารถนำเชื้อราบางชนิดมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ได้อย่างมากมาย เช่นทางการแพทย์ มีการนำเชื้อรามาใช้ในการผลิตสารปฏิชีวนะ เช่น เพนนิซิลิน ซึ่งใช้ในการรักษาโรคติดเชื้อในสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ เนื่องจากสารปฏิชีวนะมีฤทธิ์ยับยั้งและทำลายเชื้อโรคได้ดี ยาปฏิชีวนะที่รู้จักกันดี เช่น กลุ่ม เพนนิซิลิน อีรีโทรมัยซีน เตตราซัยคลิน คลอแรมเฟนิคอล สเตรปโตมัยซิน เป็นต้น
ทางด้านอาหารและผลิตภัณฑ์อาหาร มีการนำเชื้อรามาใช้ในการบริโภคและผลิตอาหารมากมายทั้งทางตรงและทางอ้อม ในทางตรง คือ การบริโภคเห็ด (หลายคนอาจจะไม่รู้หรือไม่ยอมรับ แต่เห็ดจัดว่าเป็นเชื้อราประเภทหนึ่ง) ส่วนทางอ้อม คือ การนำคุณสมบัติการทำหน้าที่ย่อยสลายอินทรีย์สารของเชื้อรา โดยอาจใช้เชื้อราเดี่ยว ๆ หรือใช้ร่วมกับยีสต์หรือแบคทีเรีย เช่น การทำซีอิ้ว เต้าเจี้ยว ก็จะใช้เชื้อราที่สามารถย่อยถั่วเหลืองได้ดีมาหมัก สีแดงบนเต้าหู้ยี้ก็ได้จากเชื้อราเช่นกัน การทำข้าวหมาก กระแช่ สาโท ก็จะใช้เชื้อราที่สามารถหมักแป้งให้เป็นน้ำตาล
จากนั้นยีสต์และแบคทีเรียก็จะเปลี่ยนน้ำตาลเป็นกรด ทำให้ได้ข้าวหมากที่มีทั้งรสหวาน เปรี้ยว และมีกลิ่นหอมด้วย อาหารหมักอย่างอื่นก็คล้าย ๆ กัน จะใช้ความสามารถในการย่อยสลายอินทรีย์สารของเชื้อรามาประยุกต์ใส่ในอาหารที่ต้องการ ทำให้ได้อาหารที่มีรูปแบบเปลี่ยนไปจากเดิมและเพิ่มมูลค่าให้วัตถุดิบด้วย
ทางการเกษตร เนื่องจากเชื้อราสามารถย่อยสลายอินทรีย์สารได้ดี จึงมีการนำเชื้อรามาใช้ทำดินหมักหรือปุ๋ยสำหรับการปลูกพืชโดยเตรียมใบไม้ที่มีเชื้อราขึ้นอยู่มาผสมกับข้าวสุก น้ำตาลทรายแดง หมักทิ้งไว้ก็จะได้หัวเชื้อมาทำเป็นปุ๋ยอินทรีย์ สำหรับนำมาใช้ผสมกับดินเพื่อใช้ในการเพาะปลูก จะเป็นการช่วยเพิ่มธาตุอาหารและจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ให้แก่ดิน ทำให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์มากขึ้น ส่งผลให้พืชเจริญเติบโตได้ดีและให้ผลผลิตมากขึ้นด้วย
ทางอุตสาหกรรม เชื้อราบางชนิดนำมาสกัดเป็นเอนไซม์ซึ่งใช้ในอุตสาหกรรมอย่างมากมายหลายอย่าง แล้วแต่คุณสมบัติของเอนไซม์ที่สกัดได้ เช่น ใช้ในการผลิตเบียร์ ทำลูกกวาด ป้องกันการตกผลึกในการทำไอศกรีม ใช้เตรียมน้ำเชื่อมที่หวานจัด นอกจากนี้ยังใช้เชื้อราในการผลิตกรดซิตริกหรือกรดส้ม ซึ่งเป็นสารเคมีที่ใช้ในวงการแพทย์ เครื่องปรุงอาหาร ใช้ในอุตสาหกรรมน้ำหมึก สีย้อมและการทำแม่พิมพ์ เป็นต้น
โดยสรุปแล้ว เชื้อราเมื่อนำมาใช้ให้ถูกทางก็มีประโยชน์ ส่วนเชื้อราที่เจริญเติบโตในสำนักงานหรืออาคารนั้นไม่มีประโยชน์แน่ๆ มีแต่โทษ ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นต่อวัสดุ สิ่งของ ผลิตภัณฑ์ เฟอร์นิเจอร์ ความแข็งแรงของตัวอาคาร และค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่จะตามมา รวมถึงความเสี่ยงต่อปัญหาด้านสุขภาพที่รบกวนทั้งทางร่างกาย จิตใจ และสมาธิในการทำงาน
ซึ่งมีผลต่อเนื่องไปยังประสิทธิภาพและประสิทธิผลของงานจึงเป็นการสมควรอย่างยิ่งที่เราจะป้องกันปัญหาต่างๆ อันเนื่องมาจากเชื้อรา โดยมีปัจจัยที่สำคัญก็คือ การควบคุมความชุ่มชื้น (Moisture) หรือความชื้นสูง (Humidity) ในสำนักงาน การกำจัดเชื้อราที่เกิดขึ้น การระบุและพิจารณาแนวทางแก้ไขพื้นที่หรือแหล่งหรือระบบที่จะก่อให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการรั่วซึมหรือการควบแน่นของน้ำ อันจะก่อให้เกิดเชื้อราขึ้นได้ รวมถึงหมั่นทำความสะอาดสำนักงานอย่างทั่วถึง และดูแล บำรุงรักษาสภาพอาคารอยู่เสมอนั่นเอง
เอกสารอ้างอิง
• Molds in Indoor Workplaces by Hazard Evaluation System & Information Service (HESIS), California Department of Health Services, Nov.2005
• Preventing Mold - Related Problems in the Indoor Workplace by U.S.Department of Labor , Occupational Safety and Health Administration (OSHA) .2006
• Molds, Toxic Molds, and Indoor air Quality by Pamela J.Davis, 2001
• เชื้อรา สิ่งมีชีวิตมหัศจรรย์ เรียบเรียงโดย นายเกรียงไกร นาคะเกศ นักวิทยาศาสตร์ 7ว, นางสาวจารุณี เมฆสุวรรณ์ นักทดสอบ โครงการวิทยาศาสตร์ชีวภาพ กรมวิทยาศาสตร์บริการ
สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.
ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด