เนื้อหาวันที่ : 2013-05-03 16:55:57 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 22186 views

กฎหมาย จป. ฉบับใหม่ พ.ศ. 2549

ในขณะที่เขียนบทความอยู่นี้ เรื่องที่เป็น Talk of the town ในแวดวงอาชีวอนามัยฯ ของเรา เห็นจะไม่พ้นเรื่องของกฎหมาย จป.ฉบับใหม่

 กฎหมาย จป. ฉบับใหม่ พ.ศ.2549

ศิริพร วันฟั่น

 

       ในขณะที่เขียนบทความอยู่นี้ เรื่องที่เป็น Talk of the town ในแวดวงอาชีวอนามัยฯ ของเรา เห็นจะไม่พ้นเรื่องของกฎหมาย จป.ฉบับใหม่ หรือมีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า กฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหารและการจัดการ ด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน 2549 ซึ่งได้มีการลงนาม โดย ฯพณฯ สมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เมื่อวันที่ 16 .. 2549 และมีผลบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ 21 มิ.. 2549 ที่ผ่านมา

 

       ซึ่งหลังจากประกาศใช้ ก็ก่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ ตลอดจนคำถาม และข้อสงสัยต่าง ๆ เกิดขึ้นมามากมายหลายประการด้วยกัน โดยเฉพาะประเด็นที่ว่า กฎหมายฉบับใหม่นี้ออกมาเพื่อกีดกัน ตำแหน่ง จป.วิชาชีพ ไว้ให้กับผู้ที่จบปริญญาตรีอาชีวอนามัยใช่หรือไม่ และจะมีผลทำให้ จป.วิชาชีพ ที่ผ่านการฝึกอบรม 180 ชม. หรือ 192 ชม. ตามกฎหมายเก่า ถึงกับต้องตกงานกันไปเลยหรือเปล่า แล้ว จป. พื้นฐานที่ถูกยกเลิกไปล่ะ จะให้ไปทำงานอะไร ไหนจะ จป.หัวหน้างาน กับ จป.บริหารที่มีอยู่ล่ะ ต้องส่งไปอบรมกันใหม่หรืออย่างไร ส่วน จป. เทคนิค และ จป. เทคนิคชั้นสูงล่ะ ต้องอบรมอะไรบ้าง ฯลฯ 

        และแล้ว หลังจากปล่อยให้พวกเราอยู่ในสภาพสุญญากาศ คือไม่รู้เหนือรู้ใต้กันอยู่เกือบ 2 เดือน ในที่สุดก็ได้มีประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ความปลอดภัย ฉบับลงวันที่ 18 .. 2549 ออกมาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งเมื่ออ่านจบแบบครบถ้วนกระบวนความ แถมพกด้วยอานิสงส์ที่ได้จากการขวนขวายไปฟังการอธิบาย ตีความกฎหมายจากผู้ทรงคุณวุฒิ ทั้งจากทางกองตรวจความปลอดภัยและนักวิชาการ

รวมถึงการซักถามข้อสงสัยต่าง ๆ จากเจ้าหน้าที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานในหลายพื้นที่ ก็พอจะทำให้คลาย ความสงสัย และความกังวลใจ ไปได้มากพอสมควร จึงถือโอกาสนี้ มาคุยให้ฟังกัน ซึ่งก็คงจะพอช่วยให้ท่านผู้อ่านสามารถเข้าใจได้ในภาพรวม ส่วนรายละเอียดแบบเจาะลึก คงต้องรบกวนให้ไปอ่านกฎหมายฉบับเต็มกันเอา

 

       จะว่าไปแล้ว ที่มาของกฎหมาย จป. ฉบับใหม่นี้ ก็เพื่อยกระดับมาตรฐานบุคลากรด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัย ซึ่งเป็นเป้าหมายที่สอดคล้องกับปฏิญญากรุงเทพ ฯ 2006 หรือ Bangkok Declaration 2006 ที่ได้มีการลงนามกันในการประชุม APOSHO ครั้งที่ 22 ระหว่างวันที่ 9-12 .. 2549 ซึ่งจัดขึ้นควบคู่ไปกับงานสัปดาห์ความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ ครั้งที่ 20 ที่ผ่านมานั่นเอง

 

       โดยกฎหมายฉบับนี้ได้รวบรวมเอาข้อกำหนดต่าง ๆ เกี่ยวกับความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเข้ามาไว้ด้วยกัน เพื่อให้นายจ้างสามารถดำเนินการบริหาร และจัดการความปลอดภัย ฯ ได้อย่างเหมาะสม และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งในความเห็นของนักวิชาการบางท่าน ก็กล่าวว่ากฎหมาย จป. ฉบับ 2549 นี้ คือ มอก. 18001 ภาคบังคับนั่นเองและหลังจากกฎหมายฉบับดังกล่าวประกาศใช้ ก็มีผลให้ยกเลิกกฎหมายฉบับเก่า 2 ฉบับ คือ

 1) ประกาศกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม เรื่อง ความปลอดภัยในการทํางานของลูกจ้าง (31 มี.. 2540)

 2) ประกาศกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม เรื่อง คณะกรรมการความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทํางาน (27 มิ.. 2538)

   ส่วนเนื้อหาสาระที่สำคัญของกฎหมาย จป. ฉบับใหม่ รวมถึงหลักเกณฑ์และวิธีการฝึกอบรม จป. ตามกฎหมายใหม่ มีดังนี้

1. ประเภทของกิจการที่บังคับใช้กฎหมาย เพิ่มขึ้นจาก 6 เป็น 14 ประเภทกิจการ ดังนี้

 

1) การทำเหมืองแร่ เหมืองหิน กิจการปิโตรเลียมหรือปิโตรเคมี

 
2) การทำ ผลิต ประกอบ บรรจุ ซ่อม ซ่อมบำรุง เก็บรักษา ปรับปรุง ตกแต่ง เสริมแต่ง ดัดแปลง แปรสภาพ ทำให้เสียหรือทำลายซึ่งวัตถุหรือทรัพย์สิน รวมทั้งการต่อเรือ การให้กำเนิด แปลง และจ่ายไฟฟ้าหรือพลังงานอย่างอื่น


3) การก่อสร้าง ต่อเติม ติดตั้ง ซ่อม ซ่อมบำรุง ดัดแปลง หรือรื้อถอนอาคาร สนามบิน ทางรถไฟ ทางรถราง ทางรถใต้ดิน ท่าเรือ อู่เรือ สะพานเทียบเรือ ทางน้ำ ถนน เขื่อน อุโมงค์ สะพาน ท่อระบาย ท่อน้ำ โทรเลข โทรศัพท์ ไฟฟ้า ก๊าซหรือประปา หรือสิ่งก่อสร้างอื่น ๆ รวมทั้งการเตรียมหรือวางรากฐานของการก่อสร้าง


4) การขนส่งคนโดยสารหรือสินค้าโดยทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ และรวมทั้งการบรรทุกขนถ่ายสินค้า


5) สถานีบริการหรือจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงหรือก๊าซ


6) โรงแรม*


7) ห้างสรรพสินค้า*


8) สถานพยาบาล*


9) สถาบันทางการเงิน*


10) สถานตรวจทดสอบทางกายภาพ*


11) สถานบริการบันเทิง นันทนาการ หรือการกีฬา*


12) สถานปฏิบัติการทางเคมีหรือชีวภาพ*


13) สำนักงานที่ปฏิบัติงานสนับสนุนสถานประกอบกิจการตาม 1) ถึง 12)*


14) กิจการอื่นตามที่กระทรวงแรงงานประกาศกำหนด

หมายเหตุ ประเภทกิจการที่เพิ่มขึ้นคือข้อ 6) - 13) 

         

2. บทนิยามหรือคำจำกัดความต่างๆ จะรวมเอาคำจำกัดความของกฎหมายเก่าทั้ง 2 ฉบับที่ยกเลิกไป คือประกาศกระทรวง ฯ เรื่อง ความปลอดภัยในการทํางานของลูกจ้าง และเรื่องคณะกรรมการความปลอดภัย ฯ เข้ามาไว้ด้วยกัน และมีการให้คำจำกัดความที่ละเอียดและชัดเจนยิ่งขึ้น เช่น

- มีการให้คำจำกัดความของคำว่า ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน และคำว่า สถานประกอบกิจการ ได้อย่างกระชับและชัดเจนขึ้น

 

-  มีการแยก ลูกจ้างระดับหัวหน้างาน และ ลูกจ้างระดับบริหาร ออกจากกันอย่างชัดเจน

 

- เพิ่ม จป. จาก 4 ระดับ เป็น 5 ระดับ โดยการยกเลิก จป.พื้นฐาน และเพิ่มเติม จป.เทคนิค และ จป. เทคนิคชั้นสูง

 

- แยกผู้แทนนายจ้างออกเป็นระดับบริการ และระดับบังคับบัญชาและที่สำคัญก็คือ มีการให้คำจำกัดความกับคำว่า หน่วยงานความปลอดภัย ซึ่งถือเป็นคำศัพท์ใหม่ ที่ไม่ได้มีการระบุไว้ใน   กฎหมายเก่า ทั้ง 2 ฉบับ อีกด้วย

 

3. กำหนดให้นายจ้างต้องจัดให้มีข้อบังคับ และคู่มือความปลอดภัยในการทำงาน รวมถึงจัดฝึกอบรม ตลอดจนฝึกปฏิบัติแก่ลูกจ้าง จนกว่าลูกจ้างจะสามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและปลอดภัย ซึ่งข้อบังคับและคู่มือนี้ จะต้องครอบคลุมไปถึงผู้รับเหมาชั้นต้น หรือผู้รับเหมาช่วงที่เข้ามาปฏิบัติงานในสถานประกอบกิจการด้วย

 

4. มีการกำหนดความจำเป็นในการแต่งตั้ง จป. แต่ละระดับ แตกต่างกันออกไป ตามขนาด และประเภทของสถานประกอบกิจการ ดังนี้

 

 

 

หมายเหตุ ดูรายละเอียดประเภทกิจการในข้อ 1

 

5. มีการกำหนดคุณสมบัติ และหน้าที่ของ จป. แต่ละระดับใหม่ ดังนี้

 

หมายเหตุ

1) หลักสูตรการฝึกอบรม จป.หัวหน้างานและบริหาร ยังคงเป็นหลักสูตร 12 ชม. เท่าเดิม แต่เนื้อหาการฝึกอบรมอาจจะเปลี่ยนไป เพื่อให้สอดคล้องกับหน้าที่ที่กำหนดไว้ในกฎหมายใหม่

 

2) ผู้ที่ผ่านการอบรมจป.หัวหน้างานและบริหาร ตามหลักเกณฑ์เก่า ภายในวันที่ 21 ส.ค. 2549 ถือว่ามีคุณสมบัติตามกฎหมายใหม่

 

6. คณะกรรมการความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน

6.1 ยังคงกำหนดให้สถานประกอบการที่มีลูกจ้าง 50 คนขึ้นไป จัดให้มี คปอ. โดยองค์ประกอบของ คปอ. มีดังนี้

 

หมายเหตุ

 

1.       กรณีที่ไม่มี จป. เทคนิคชั้นสูง หรือ จป. วิชาชีพ ให้นายจ้างคัดเลือกผู้แทนนายจ้างระดับบังคับบัญชา หนึ่ง คนเป็นกรรมการ และให้ประธานกรรมการเลือกกรรมการซึ่งเป็นผู้แทนนายจ้างระดับบังคับบัญชาคน หนึ่ง เป็นเลขานุการ

 

2.       ในกรณีที่มีกรรมการเพิ่มมากกว่าจำนวนขั้นต่ำตามกฎหมาย ให้มีกรรมการจากผู้แทนนายจ้างระดับบังคับบัญชาและผู้แทนลูกจ้างเพิ่มขึ้นในสัดส่วนที่เท่ากัน

 

6.2 มีการเพิ่มหน้าที่ของ คปอ. จากเดิม 10 ข้อ เป็น 11 ข้อ ในเรื่องของ การประเมินผลการดำเนินงานด้านความปลอดภัยในการทำงานของสถานประกอบกิจการ

 

7. มีการกำหนดความจำเป็นในการจัดตั้งหน่วยงานความปลอดภัย ตามขนาดและกิจการของสถานประกอบการ ดังนี้

 

 หมายเหตุ ดูรายละเอียดประเภทกิจการในข้อ 1

    โดยหน่วยงานความปลอดภัยนี้ต้องขึ้นตรงกับผู้บริหารสูงสุดของสถานประกอบการนั้น มีฐานะและระดับที่ประสานกับหน่วยงานต่าง ๆ ได้ดี มีบุคลากรและงบประมาณที่สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และนายจ้างจะต้องแต่งตั้งหัวหน้าหน่วยงานความปลอดภัยฯ โดยผู้ที่จะเป็นหัวหน้าหน่วยงานฯ นี้จะต้องเป็นหรือเคยเป็น จป. วิชาชีพมาก่อน ส่วนหน้าที่ของหน่วยงานฯ มี 10 ข้อ ดังนี้   

1) วางแผนการดำเนินงานสำหรับการขจัดความเสี่ยงของสถานประกอบกิจการ และดูแลให้มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง


2) จัดทำข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการป้องกันอันตรายจากอุบัติเหตุ อุบัติภัย และควบคุมความเสี่ยงภายในสถานประกอบกิจการ


3) จัดทำคู่มือและมาตรฐานว่าด้วยความปลอดภัยในการทำงานไว้ในสถานประกอบกิจการ เพื่อให้ลูกจ้างหรือผู้ที่เกี่ยวข้องได้ใช้ประโยชน์


4) กำหนดชนิดของอุปกรณ์คุ้มความปลอดภัยส่วนบุคคลที่เหมาะสมกับลักษณะความเสี่ยงของงานเสนอต่อนายจ้าง เพื่อจัดให้ลูกจ้างหรือผู้ที่เกี่ยวข้องสวมใส่ขณะปฏิบัติงาน


5) ส่งเสริม สนับสนุน ด้านวิชาการและการปฏิบัติงานของหน่วยงานต่าง ๆ ในสถานประกอบกิจการ เพื่อให้ลูกจ้างปลอดจากเหตุอันจะทำให้เกิดการประสบอันตรายหรือการเจ็บป่วยอันเนื่องจากการทำงาน รวมทั้งด้านการควบคุมป้องกันอัคคีภัยและอุบัติภัยร้ายแรงด้วย


6) จัดอบรมเกี่ยวกับความรู้พื้นฐานและข้อปฏิบัติเกี่ยวกับความปลอดภัยในการทำงานแก่ลูกจ้างที่เข้าทำงานใหม่ก่อนให้ปฏิบัติงาน รวมทั้งลูกจ้างซึ่งต้องทำงานที่มีความแตกต่างไปจากงานเดิมที่เคยปฏิบัติอยู่และอาจเกิดอันตรายด้วย


7) ประสานการดำเนินงานความปลอดภัยในการทำงานกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภายในและภายนอกสถานประกอบกิจการ รวมทั้งหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง


8) ตรวจประเมินระบบความปลอดภัยในการทำงานในภาพรวมของสถานประกอบกิจการ


9) รวบรวมผลการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานทุกระดับ และติดตามผลการดำเนินงานด้านความปลอดภัยในการทำงานให้เป็นไปตามนโยบายและแผนงานของสถานประกอบกิจการ พร้อมทั้งรายงานให้นายจ้างและคณะกรรมการทราบทุกสามเดือน


10) ปฏิบัติงานด้านความปลอดภัยในการทำงานอื่นตามที่นายจ้างมอบหมาย

 

สนใจข้อมูลเพิ่มเติมคลิกไปที่ www.oshthai.org หรือสอบถามไปยังสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานในเขตพื้นที่ของท่าน หรือที่ กองตรวจความปลอดภัย

โทรศัพท์ 0-2448-9128-30 ในวันและเวลาราชการ

 

เอกสารอ้างอิง

-         กฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหารและการจัดการ ด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน (16 .. 2549)

-          ประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ความปลอดภัย (18 .. 2549)

-          ประกาศกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม เรื่อง ความปลอดภัยในการทํางานของลูกจ้าง (31 มี.. 2540)

-          ประกาศกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม เรื่อง คณะกรรมการความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทํางาน (27 มิ.. 2538)

 

 

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด